พิจารณาเยียวยานํ้าท่วม ต้องตรวจสอบครบถ้วนตามจริง!

11 ธ.ค. 2565 | 02:09 น.

พิจารณาเยียวยานํ้าท่วม ต้องตรวจสอบครบถ้วนตามจริง! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,843 หน้า 5 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม 2565

 

“นํ้าท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่านํ้าแห้งให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า นํ้าท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบนํ้าตา …”  

 

เนื้อเพลงนี้คงโดนใจใครหลายคน และหลายคนก็อาจสงสัยว่า “นํ้าท่วมดีกว่าฝนแล้งจริงหรือ?” โดยเฉพาะผู้ประสบอุทกภัยจากไต้ฝุ่น “โนรู” และ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ทรัพย์สิน บ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ตลอดจนมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก  

 

 

ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนก็ได้พยายามบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าด้วยการมอบอาหาร นํ้าดื่ม อุปกรณ์ยังชีพ ที่พักพิงชั่วคราว รวมไปถึงมอบเงินช่วยเหลือ โดยในส่วนของภาครัฐการช่วยเหลือจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม... แม้ว่าความช่วยเหลือต่างๆ ดังกล่าว จะไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดได้ แต่ก็ยังพอช่วยบรรเทา ความทุกข์ร้อนของประชาชนจากภัยธรรมชาติไปได้บ้างครับ...  

 

 

 

วันนี้... มีคดีเกี่ยวกับการพิจารณาเงินเยียวยานํ้าท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านคงยังจำกันได้เพราะเป็นนํ้าท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง ... โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากผู้มีอำนาจพิจารณาเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะจ่ายเงินเยียวยาได้ 

 

 

พิจารณาเยียวยานํ้าท่วม ต้องตรวจสอบครบถ้วนตามจริง!

 

 

โดยศาลปกครองสูงสุดได้วางแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยนํ้าท่วมที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนํ้าท่วมในปีนี้ หรือในอนาคตได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมครับ  

 

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า... ผู้ฟ้องคดีจำนวน 190 คน ซึ่งอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร 4 แห่ง อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่เทศบาลไม่จ่ายเงินเยียวยากรณีประสบอุทกภัยให้แก่พวกตน จึงได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอจึงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบความเสียหายบ้านผู้ฟ้องคดีทุกราย

 

ได้ข้อสรุปว่า เป็นการท่วมบริเวณรอบๆ บ้าน ไม่ได้เข้าไปในตัวบ้าน จึงไม่เข้าตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้รับความ เดือดร้อนจริง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ

 

คดีนี้... ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ผู้ฟ้องคดี 75 คน ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

 

คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 75 คน มีสิทธิได้รับเงิน ช่วยเหลือกรณีประสบอุทกภัยหรือไม่ เพียงใด? 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดีแต่ละคน คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้กล้องส่องวัดระดับคราบนํ้าที่หมู่บ้านเพียงหมู่บ้านละ 1 หลัง แล้วรับฟังว่าหมู่บ้านทั้ง 4 แห่ง นํ้าไม่ท่วมเข้าไปในบ้านพักอาศัย อันเป็นการตรวจสอบที่ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง

 

เนื่องจากบ้านแต่ละหลังอาจได้รับความเสียหายจากนํ้าท่วมไม่เท่ากัน ศาลปกครองสูงสุดจึงสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ยื่นอุทธรณ์จัดส่งพยานหลักฐานที่แสดงว่าบ้านของตนถูกนํ้าท่วมและทรัพย์สินได้รับความเสียหายต่อศาล 

 

ต่อมา ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำชี้แจง จัดส่งภาพถ่าย และเอกสารหลักฐานของผู้ฟ้องคดีจำนวน 50 คนต่อศาล แต่ไม่ส่งหลักฐานของผู้ฟ้องคดีจำนวน 25 คน จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 25 คนดังกล่าว ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงว่าบ้านของตนถูกนํ้าท่วมและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์ข้างต้น

 

สำหรับผู้ฟ้องคดีอีก 50 คน ที่ยื่นเอกสารหลักฐานนั้น เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ให้ช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงิน โดยให้คำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า มิใช่เป็นการชดใช้ความเสียหาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการที่กำหนดไว้  

 

เช่น ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำของเจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหายบางส่วน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหากไม่ได้รับการซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จะไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ หรือเข้าอยู่อาศัยได้แต่อาจไม่ปลอดภัยกับชีวิต/ทรัพย์สินหรือสัตว์ร้ายเข้าคุกคามในบ้าน

 

เช่น พื้นบ้าน เสาบ้าน ผนังหรือฝาบ้าน หลังคา สำหรับส่วนอื่นที่นอกเหนือจากตัวบ้าน เช่น รั้ว โรงรถนอกตัวบ้าน ไม่สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ ทั้งนี้โดยให้จ่ายเท่า ที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 20,000 บาท 

 

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จ่ายเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่มีเอกสารหลักฐานมาแสดง จำนวน 50 คน ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 272/2565)

 

คดีดังกล่าว... ศาลปกครองสูงสุดได้วางแนวทางการปฏิบัติราชการที่ถูกต้อง ในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อจ่ายเงินเยียวยากรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากเหตุอุทกภัย ซึ่งต้องมีความชัดเจนและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้  

 

การคาดคะเนโดยการให้เจ้าหน้าที่ใช้กล้องส่องวัดระดับคราบนํ้าที่หมู่บ้าน เพียงหมู่บ้านละ 1 หลัง แล้วรับฟังว่า นํ้าไม่ท่วมเข้าไปในบ้านพักอาศัยทุกหลัง ถือเป็นการตรวจสอบที่ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ผู้ประสบภัยพิบัติไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม เนื่องจากบ้านแต่ละหลังอาจได้รับความเสียหายจากนํ้าท่วมไม่เท่ากัน  

 

ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องตรวจสอบ ข้อเท็จจริงให้มีความชัดเจนในการพิจารณาผู้เดือดร้อนเสียหายแต่ละรายครับ

 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง)