หากเจอเหตุการณ์สายไฟฟ้าขาด ... อย่าเผลอเข้าใกล้หรือไปสัมผัสเชียวนะครับ เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ และอย่าคิดว่าไม่เห็นประกายไฟ หรือ ไม่มีเสียงแล้วจะไม่เป็นอะไร ...เนื่องจากระบบการทำงานของไฟฟ้า อาจไม่ตัดไฟในทันที และถึงแม้ว่าสายไฟฟ้านั้นจะมีฉนวนหุ้มอยู่ ก็ยังอาจได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าช็อตได้
จะเห็นได้ว่า ... ปัญหาสายไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ส่วนใหญ่มักมาจากอายุการใช้งานที่ยาวนาน และขาดการดูแลบำรุงรักษา อีกทั้งในบางพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันสายไฟ ทำให้ต้องตากแดด ลม ฝน นานเข้าก็จะทำให้เสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง หน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่จึงต้องตระหนักและระมัดระวังคอยตรวจตราอยู่เสมอ และเมื่อพบเจอปัญหาต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว
สำหรับเรื่องเล่าจากคดีปกครองวันนี้ ... ก็เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกรณีสายไฟฟ้าขาดบนท้องถนน ส่วนเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร และหน่วยงานใดต้องรับผิดหรือไม่ เพียงใดนั้น มาติดตามกันเลยครับ
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ... ระหว่างที่ตนขับขี่รถจักรยานยนต์จากที่พักอาศัยมาถึงบริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า สายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ขาด และตกลงมาเกี่ยวรถจักรยานยนต์และตัวผู้ฟ้องคดีล้มลงได้รับบาดเจ็บสาหัส จนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยพบว่า มีกระดูกไหปลาร้าด้านขวาหักและกระดูกซี่โครงหัก แพทย์ได้ออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้ฟ้องคดีพักรักษาตัว และต้องไปพบแพทย์ตามกำหนดนัด
ในวันเกิดเหตุดังกล่าว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ได้รับแจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องจากศูนย์สั่งการแก้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง จึงได้ทำการต่อสายและจ่ายไฟฟ้าคืนให้ระบบเป็นปกติ
ต่อมา มารดาของผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอให้ช่วยตรวจสอบและเยียวยา ค่าเสียหาย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และต่อมาได้แจ้งปฏิเสธการจ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคละเลยไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลสายไฟฟ้าแรงสูงให้อยู่ในสภาพปลอดภัย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่ายานพาหนะ และ ค่าขาดงานของคนเฝ้าไข้ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้
อีกทั้ง ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการที่ต้องทนทุกข์ทรมานระหว่างบาดเจ็บอันเป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษด้วย
ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพื้นที่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า ในวันเกิดเหตุมีลมพัดแรงและตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเล ทำให้สายไฟฟ้าแรงสูงขาด อันเกิดจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีหน้าที่ต้องตรวจตราบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อมิให้เกิดการชำรุด จนเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติ และเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า ในวันเกิดเหตุมีลมพัดแรง แต่ก็มิได้เสนอพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นได้ว่า ในขณะนั้นมีสภาพลมแรงที่เกิดขึ้นแตกต่างไปจากภาวะปกติ ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้
ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ในส่วนการกำหนดค่าสินไหมทดแทนของศาลปกครองชั้นต้น
โดยศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อละเมิดที่เกิดกับผู้ฟ้องคดีเป็นผลจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน ที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดดังกล่าว ซึ่งศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดให้ได้ตามจำนวนที่เห็นสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษผู้กระทำละเมิดได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย ผู้ฟ้องคดีจึงควรที่จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายอันที่ตนต้องเสียไป โดยเป็นค่าขาดประโยชน์ระหว่างเจ็บป่วยจำนวน 180 วัน วันละ 400 บาท ค่าขาดรายได้จากการหยุดงานของมารดา และภรรยาที่ต้องสับเปลี่ยนมาดูแลผู้ฟ้องคดีจำนวน 6 วัน วันละ 700 บาท และค่าเดินทางตามที่จ่ายจริง จึงพิพากษาให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีตามจำนวนที่ศาลกำหนด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 76/2565)
คดีดังกล่าว ... เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จะต้องไม่ละเลยในเรื่องของการตรวจตราดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้ชำรุดบกพร่อง จนอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนผู้สัญจรโดยทั่วไป อีกทั้งไม่อาจปฏิเสธความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวได้ หากมิใช่เป็นกรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัย
นอกจากนี้ ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดนั้น จะต้องเป็นความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดเท่านั้น ในส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายในเชิงลงโทษ อันเกิดจากความทุกข์ทรมาน มิได้เป็นหลักการที่ใช้โดยทั่วไป หากแต่จะมีบัญญัติไว้ในกฎหมายบางฉบับ เช่น ในพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 13 หรือ ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 16
โดยมักจะเป็นการกระทำละเมิดที่มีพฤติกรรมความรุนแรงมากกว่าปกติทั่วไป หรือ ในลักษณะกดขี่ข่มเหง ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษเพิ่มเติมได้นะครับ ...(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)