ระวัง! รัฐบาลก้าวไกล สวรรค์ล่ม?

31 พ.ค. 2566 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 05:10 น.

ระวัง! รัฐบาลก้าวไกล สวรรค์ล่ม? :. มี 2 อุปสรรคใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ที่อาจทำให้ รัฐบาลก้าวไกล ไม่ถึงสวรรค์ นั่นคือ ด่านโหด ส.ว. และ คดีถือหุ้นสื่อ ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3892

“รัฐบาลก้าวไกล” ที่ก่อตัวขึ้นจาก 8 พรรค 132 เสียง ประกอบด้วย ก้าวไกล 151 เสียง, เพื่อไทย 141 เสียง, ประชาชาติ 9 เสียง, ไทยสร้างไทย 6 เสียง, เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง, เสรีรวมไทย 1 เสียง, เป็นธรรม 1 เสียง และ พลังสังคมใหม่ 1 เสียง

สถานการณ์ภายหลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ต่อมามีการรวมตัวก่อตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น จนถึง ณ  ขณะนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พรรคก้าวไกล จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค จะไปถึงฝั่งฝันในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ได้หรือไม่ 

เพราะมี 2 อุปสรรคใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ที่อาจทำให้ “รัฐบาลก้าวไกล” ไม่ถึงสวรรค์ นั่นคือ ด่านโหด ส.ว. และ คดีถือหุ้นสื่อ ITV ของ พิธา 

ด่านแรก ส.ว. เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ในการโหวตเลือกนายกฯ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  500 เสียง และ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) 250 เสียงรวมกันกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง จึงจะถือว่าได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ

แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล มีเสียง ส.ส.สนับสนุนเพียง 312 เสียง ยังต้องพึ่งพิงเสียงของ ส.ว. อีก 64 เสียง ถึงจะได้ 376 เสียง ปัญหาคือ ก้าวไกล จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ถึง 64 เสียงหรือไม่

นอกจากนั้น เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาฯ และโหวตเลือกนายกฯ กันไปก่อน กฎหมายก็กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลเลือกตั้งส.ส.ไปก่อนได้ 95% คือ 475 คน จาก 500 คน ส่วน 25 คน ที่เหลือก็อาจอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน หรือ เรื่องที่อาจทำผิดกฎหมาย 

ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ จำนวน ส.ส. 25 คน ที่ยังไม่ประกาศรับรองก็อาจรวมอยู่ในจำนวน 312 เสียง ฝ่ายรัฐบาลก้าวไกลด้วยหรือไม่ หากมีก็จะทำให้จำนวนเสียงที่ต้องพึ่งพิง ส.ว. ในการโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯ ต้องมากขึ้นไปอีก ด่าน ส.ว. จึงถือเป็นด่านโหดแรกที่ “ก้าวไกล” ต้องเผชิญ

                       ระวัง! รัฐบาลก้าวไกล สวรรค์ล่ม?

ไปดูด่านที่สอง คดี “ถือหุ้นสื่อ” ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูก 4 นักร้อง อย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ, ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย, สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และ นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ร้องเรียนและเร่งรัดให้ กกต. ตรวจสอบ กรณีการถือครองหุ้นสื่อ บมจ. ITV จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเข้าลักษณะต้องห้ามการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้เริ่มกระบวนการไต่สวน และรวบรวมพยานหลักฐานเรื่องนี้แล้ว 

สมมติว่า เรื่องนี้ กกต.มีมติรับรอง พิธา ให้เป็น ส.ส.ไปก่อน และต่อมาภายหลัง กกต.มีมติว่า พิธา เข้าข่ายขาดคุณสมบัติจริง จนต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา ก็อาจจะสั่งให้ พิธา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อนก็ได้ 

และในที่สุดหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า พิธา ขาดคุณสมบัติ ก็จะส่งผลต่อการสมัคร ส.ส.ของ พิธา และ การรับรองผู้สมัครลง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ทั้งหมดเป็น “โมฆะ”
หากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้ พรรคก้าวไกล และ พิธา ไปไม่ถึงสวรรค์

ทั้งยังจะมีผลพวงตามมาก็คือ ถูกดำเนินคดีในข้อหารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 ของพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 20 ปี 

มารอดูกันว่า 2 ด่านโหดนี้ พรรคก้าวไกล และ พิธา จะฟันฝ่าไปได้ หรือ สวรรค์จะต้องล่มลง...


ย้อนคำวินิจฉัยถือหุ้นสื่อศาลตีความตามตัวอักษร

จากกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีถือหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี ลองย้อนไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อไว้ 

โดยเป็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12-14 / 2553 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2553 ศาลสั่งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6 ราย จาก 45 ราย ที่ถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส. เพราะถือหุ้นต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และ (4) ประกอบมาตรา 48 ซึ่งแบ่งออกได้เป็น  2 ประเภท คือ

1. บริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม หรือ ที่เรียกกันว่า หุ้นสื่อ

2. บริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 ให้สมาชิกภาพของ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 19, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกร้องที่ 30, นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน ผู้ถูกร้องที่ 33, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ผู้ถูกร้องที่ 40, ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 42 และ ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ผู้ถูกร้องที่ 44 สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 106 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

ใจความสำคัญของคำวินิจฉัย คือ รัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยไม่ได้ระบุว่า จะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่า จะต้องมีอำนาจบริหารงาน หรือ ครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีช่องทางที่จะใช้ หรือ ถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในทางใดทางหนึ่ง 

ดังนั้น แม้การซื้อหุ้นของผู้ถูกร้องที่ 19, ที่ 30, ที่ 33, ที่ 40, ที่ 42 และที่ 44 หรือ คู่สมรส จะเป็นการซื้อในตลาดหลักทรัพย์ และแม้จะเป็นการลงทุนระยะสั้น หรือ เพื่อเก็งกำไรก็ตาม ก็เป็นการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) (4) และวรรคสาม ประกอบมาตรา 48 แล้วแต่กรณี 

ทั้งหมดนี้ เป็นกรณีที่ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ว. และ ส.ส. รวม 45 คน มีเหตุสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 119 (5) และมาตรา 106 (6) ประกอบมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) (4) และวรรคสาม ประกอบมาตรา 48