วิบากกรรมก้าวไกล-พิธา “ส.ว.-ถือหุ้นสื่อ”อุปสรรคด่านสำคัญ

20 พ.ค. 2566 | 02:00 น.

วิบากกรรมก้าวไกล-พิธา “ส.ว.-ถือหุ้นสื่อ”อุปสรรคด่านสำคัญ : รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3889

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ได้นำแกนนำ 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศกีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 

โดยรัฐบาลที่มี พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ จะมี 8 พรรค จำนวน ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 313 เสียง ประกอบด้วย 1.พรรคก้าวไกล 152 เสียง 2.พรรคเพื่อไทย 141 เสียง 3.พรรคประชาชาติ 9 เสียง 4.พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง 5.พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง 6.พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง 7. พรรคเป็นธรรม 1 เสียง และ 8. พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง 

นายพิธา กล่าวขอบคุณประชาชน และกล่าวแถลงการณ์ 3 ข้อในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค รวม 313 เสียงว่า 1.ขอบคุณทุกเสียงของประชาชน 8 พรรค 313 เสียง โดยมีนายพิธา เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประชาชน 

2.ทุกพรรคจะจัดทำข้อตกลงร่วม MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ทำงานร่วมกัน และจะแถลงต่อสาธารณชน วันที่ 22 พฤษภาคม เพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง 3.จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เตรียมความพร้อมเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน จากรัฐบาลเดิมอย่างไร้รอยต่อ

ส.ว.ขวากหนาม“พิธา”

อย่างไรก็ตาม แม้ พรรคก้าวไกล จะสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ข้างมากจนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะไปถึง “ดวงดาว” จน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถเป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้หรือไม่ ยังต้องผ่าน “2 ด่านหิน” สำคัญไปให้ได้ นั่นคือ การผ่านการโหวตนายกฯ จากที่ประชุมรัฐสภา ต้องได้ 376 เสียง และ เรื่องคุณสมบัติการสมัคร ส.ส.ที่มีกรณีการถือครองหุ้นสื่อ

ไปดูอุปสรรคแรกกันก่อน เนื่องจากรัฐบาล 8 พรรค มีเสียงสนับสนุนเพียง 313 เสียง การจะโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯ ได้ ยังต้องพึ่งเสียงของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 63 เสียง เพราะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส. 500 - ส.ว.250) คือ 376 เสียง 

ขณะที่ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งมาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น แคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะยินดีโหวตสนับสนุน พิธา ให้เป็นนายกฯ ถึง 63 เสียงหรือไม่ ตรงนี้ถือเป็น “ด่านหินแรก” ที่สำคัญ

ผ่าขุมกำลัง 250 ส.ว.

สำหรับขุมกำลังของบรรดา ส.ว. 250 คน ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น นอกเหนือจาก พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา รวมถึง 5 ผบ.เหล่าทัพ ที่แสดงจุดยืน “งดออกเสียง” ในการโหวตเลือกนายกฯ รอบนี้แล้ว หลัก ๆ ต้องจับตาไปที่ ส.ว. 3 กลุ่ม แบ่งเป็น  

1. ส.ว. สาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีทั้งเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 โดยเฉพาะ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 “เสธ.แอ๊ด” พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ที่ยามนี้ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในการคุมเสียง ส.ว.สายประยุทธ์
ทั้งยังมีบรรดานายพล เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 รวมถึง นายพล “สายน้องรัก” อย่าง บิ๊กติ๊ก-พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบ.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง คู่เขย พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงอดีตบิ๊กเหล่าทัพรวมๆ แล้วมีประมาณ 60-70 คน 

2. ส.ว.ในสาย บิ๊กป้อม พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีทั้งเพื่อนร่วมรุ่น เตรียมทหารรุ่น 6  โดยเฉพาะ  บิ๊กกี่-พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรัก ซึ่งถูกจับตาว่า เป็นมือประสานรอบทิศ ยามนี้ส่ง ศรีภรรยา ประวีณ์นุช อินทปัญญา ขึ้นแท่นว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่คุมเสียง ส.ว.สายประวิตร 

ทั้งยังมี “ก๊วน ตท.6” รวมถึงกลุ่มน้องรัก โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญในสภาสูงมาตั้งแต่เป็น ส.ว.สรรหาชุดก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 นอกจากนี้ยังรวมถึงอดีตบิ๊กเหล่าทัพ นับรวมแล้วกลุ่มนี้มีประมาณ 80 คน 

ในส่วนของกลุ่ม 2 ป. ยังมี ส.ว.สายอื่น ทั้ง อดีต ส.ว.นักธุรกิจ กลุ่มทุน ที่อาจสวิงไปมาอีกราวๆ กลุ่มละ20-30 คน รวม ส.ว.สาย 2 ป.ที่อยู่ในสภาสูงนับรวมแล้วประมาณกว่า 100 คน

กลุ่มที่ 3 เรียกว่าเป็น “กลุ่มอิสระ” กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นอดีตข้าราชการ นักวิชาการ ภาคธุรกิจบางส่วน ที่มีอยู่ประมาณ 20 คน โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่โหวต “ปิดสวิตช์” ตัวเอง  
ส.ว. ด่านแรก ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “ก้าวไกล” ต้องการเสียงสนับสนุน 63 เสียงในการโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯ จะฝ่าไปได้หรือไม่ มารอดูกัน

                                วิบากกรรมก้าวไกล-พิธา “ส.ว.-ถือหุ้นสื่อ”อุปสรรคด่านสำคัญ

ด่านสอง“ถือหุ้นสื่อ”

ไปดูด่านที่ 2 กรณี “ถือหุ้นสื่อ” ขณะนี้ได้มี 2 นักร้อง ยื่นเรื่องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ตรวจสอบ

คนแรก เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า การที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ 

และให้ตรวจสอบด้วยว่า คุณสมบัติของหัวหน้าพรรค จะส่งผลต่อการเซ็นรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น

นายเรืองไกร ระบุว่า ได้ใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้ 5 วัน เสียเงินไปหลายพันบาท เพื่อคัดเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลังจากได้ข้อมูลมาจากบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี แล้วก็ได้พบหลักฐานตามเอกสาร บมจ.6 ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งมา ว่า ณ วันที่ 27 เม.ย.2565 นายพิธา ยังคงเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ และบริษัทไอทีวี เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ 

และมีรายงานการประชุมล่าสุดที่มีผู้ถือหุ้นถามผู้บริหาร ว่า บริษัทไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารก็ได้ตอบว่า เป็นบริษัทสื่อ  จึงจำเป็นต้องร้องให้ กกต.ตรวจสอบ 

ส่วนการที่นายพิธา ออกมาระบุว่า ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ขอบคุณ เพราะก็ถือว่าเป็นการยอมรับ เป็นเรื่องที่ดี แม้จะระบุว่า หุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนเองเป็นกองมรดก และตัวเองเป็นผู้จัดการเท่านั้น แต่อยากให้ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เขียนเพียงว่าผู้จะลงสมัคร ส.ส.ต้องไม่เป็นผู้ถือครองหุ้นสื่อเท่านั้น

สำหรับ นายพิธา นอกจากเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคแล้ว เป็นหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ  เพียงคนเดียวของพรรค

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 นายสนธิญา สวัสดี ก็ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนให้ กกต. ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในกรณี “ถือหุ้นสื่อ” หลังถูกตรวจสอบพบว่า ยังถือครองหุ้นในบริษัทสื่อสารมวลชน อาจเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 

นายสนธิญา ระบุว่า การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีความผิดจริงจะส่งผลให้จำนวน ส.ส. ไม่ถึง 90% ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจาก นายพิธา เป็นหัวหน้าพรรคที่ต้องรับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล หาก นายพิธา ขาดคุณสมบัติเสียเอง ก็จะส่งผลทำให้การรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครพรรคก้าวไกลทุกคนเป็นโมฆะ ไปด้วย

ถัดมาวันที่ 16 พ.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต.เพิ่มเติม ให้สอบความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 24 และจะมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 112 วรรคหนึ่งหรือไม่ จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ ไอทีวี เพราะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติต้องห้าม 

ขณะที่มาตรา 112 ระบุว่า คนที่รู้อยู่แล้วว่า คนที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก รวมถึงกรรมการบริหารอื่นของพรรค แต่ยินยอมรับการแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่พรรคการเมือง แต่งตั้งบุคคล ให้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าคนนั้นไม่มีคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายเรืองไกร กล่าวว่า ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกล ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ในขณะที่นายพิธา แสดงตนเป็นสมาชิกพรรค ในข้อ 12 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาเป็นสมาชิกพรรค ข้อ 21 กำหนดการสิ้นสมาชิกว่า เมื่อขาดคุณสมบัติตามข้อ 11 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 12 

ส่วนข้อ 37 ได้บอกว่ากรรมการบริหารพรรคจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ ดังนั้น ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 12 (6) จึงรวมถึงลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ทุกอนุมาตรา และใน (3) กำหนดว่า คนที่ถือครองหุ้นสื่อใดๆ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร

กรณี “ถือหุ้นสื่อ” ถือเป็นด่านสำคัญที่ พิธา จะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ เพราะหากเรื่องผ่านจาก กกต. ไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว ก็มีโอกาสที่อาจจะซ้ำรอยกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เหมือนกัน 

หากเป็นเช่นนั้นจริง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะไปไม่ถึงดวงดาวในตำแหน่ง นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย