KEY
POINTS
ไฮไลท์หนึ่งที่น่าสนใจ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และกลายเป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งฝ่ายค้าน โดยพรรคประชาชน เตรียมดำเนินการต่อเพื่อให้มีการตรวจสอบเอาผิดคือ กรณีการใช้ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” หรือ ตั๋ว PN 9 ฉบับ กว่า 4.4 พันล้านบาท ของ แพทองธาร ในการซื้อขายหุ้น 7 บริษัทแก่บุคคลในครอบครัว “ชินวัตร” 5 คน
เพราะถูกตั้งข้อสังเกตว่า ส่อมีพฤติการณ์นิติกรรมอำพราง เข้าข่ายทำให้คนในครอบครัว-ญาติใกล้ชิด ไม่ต้องจ่ายภาษีกว่า 218 ล้านบาทหรือไม่
คนที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ และเปิดประเด็นเรื่องนี้คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ที่อภิปรายในวันแรก 24 มี.ค. 2568
9 บริษัทส่อเลี่ยงภาษี 218.7 ล้าน
ประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามคือ แพทองธาร มีพฤติการณ์ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย นิติกรรมอำพราง ในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีการรับให้ตั้งแต่ปี 2559 หรือไม่ เพราะใน 9 บริษัท ที่ แพทองธาร ใช้ตั๋ว PN รวมวงเงิน 4,434.5 ล้านบาท ส่อเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษีอย่างน้อย 218.7 ล้านบาท ได้แก่
1. พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว 4 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,388,724,095.42 บาท ชำระ ค่าหุ้น บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด และ บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด โดยจะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 118.9 ล้านบาท
2. พานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย 1 ฉบับ เป็นเงิน 335,420,541 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 16.3 ล้านบาท
3. บรรณพจน์ ดามาพงศ์ (มีศักดิ์เป็นลุง เพราะเป็นพี่ชายคุณหญิงพจมาน) 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,315,460,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอ ไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 65.3 ล้านบาท
4. บุษบา ดามาพงศ์ (มีศักดิ์เป็นป้าสะใภ้ เพราะเป็นภริยานายบรรณพจน์) 1 ฉบับ เป็นเงิน 258,400,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 12.4 ล้านบาท
5.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา 1 ฉบับ เป็นเงิน 136,517,701.60 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 5.8 ล้านบาท
ใช้ช่องว่างตั๋ว PN
นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า หนี้สินของ แพทองธาร ที่เป็นลูกหนี้ทั้ง 9 รายการ ที่ระบุในบัญชีทรัพย์สิน ไม่ใช่หนี้ที่อยู่ในรูปแบบสัญญาเงินกู้ แต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ ที่เรียกว่าตั๋ว PN เป็นหนี้สินที่ แพทองธาร ซื้อหุ้นพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และ แม่ เป็นการซื้อหุ้น และออกตั๋ว PN แทนการจ่ายเงิน
"ตั๋ว PN 9 ใบนี้ มีเงื่อนไขสุดว้าวมาก ๆ จะชำระเงินค่าซื้อหุ้นเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ซื้อหุ้นกันภาษาอะไร ไม่มีกำหนดจ่ายค่าซื้อหุ้นเมื่อไหร่ ต้องสงสัยอย่างฉกรรจ์ว่า เป็นการใช้ตั๋ว PN เป็นเครื่องมือทำนิติกรรมอำพราง ทำธุรกรรมการซื้อปลอม ตบตาการได้หุ้นจากการให้ มาเป็นการซื้อหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ ที่ต้องจ่ายให้กับแผ่นดิน เป็นพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบประชาชน บ่อนทำลายการพัฒนาประเทศ ซึ่งการจ่ายค่าหุ้นด้วยตั๋ว PN ที่ไม่ได้จ่ายเงินจริง ๆ ทำให้คนเหล่านี้ ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแม้แต่บาทเดียว"
นายวิโรจน์ ระบุด้วยว่า ตั๋ว PN ปกติใช้กันได้ในแวดวงการค้า มักใช้เป็นสัญญาเงินกู้ยืมระยะสั้น ใช้กันในหมู่ธุรกิจที่ค้าขายกันมานาน จนไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะให้กู้ยืมไม่มีหลักประกันชัดเจน แต่ลองถามกรมสรรพากร ถ้าบริษัทไหนออกตั๋ว PN แค่หลัก 10 ล้านบาท กรมสรรพากรก็มาตรวจสอบแล้ว ว่า บริษัทมีพฤติการณ์การว่าจ้างปลอมหรือไม่
“แล้วใช้ตั๋ว PN เป็นค่าใช้จ่ายปลอม เพื่อเสียภาษีนิติบุคคลลดลงหรือไม่ นี่คือกลโกงหนีภาษี เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2562 ออกมาเป็นแนวแล้วด้วยว่า การใช้ตั๋ว PN กระทำผิดกฎหมาย หรือขัดความสงบ ศีลธรรมอันดี ตั๋ว PN นั้นเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์”
จ่อยื่นสรรพากร-ป.ป.ช.สอบ
นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ถ้าเจตนาแท้จริง แพทองธาร ได้หุ้นรับให้จากเครือญาติ แต่จงใจใช้ตั๋ว PN เป็นเครื่องมือสร้างหนี้ปลอม สร้างธุรกรรมซื้อหุ้นปลอม พฤติกรรมแบบนี้คือ ทำนิติกรรมอำพราง หลีกเลี่ยงจ่ายภาษีรับให้ เข้าข่ายมีความผิด กรณีไม่จ่ายภาษี ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร
“ถ้าเรายอมรับการใช้ตั๋ว PN โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต่อไปตั๋ว PN จะถูกใช้ในการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เอาเงินเป็นร้อยล้าน แล้วให้ออกตั๋ว PN มาแล้ว แล้วอ้างว่านี่ไม่ใช่ให้สินบน แต่เป็นการข้าราชการระดับสูงมายืมเงิน แต่เจอเจ้าหนี้แสนประเสริฐ ให้ยืมไม่มีกำหนดจ่ายคืน ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ แต่จะมีแต่ข้าราชการระดับสูง ยากจนผิดปกติ จมไปด้วยหนี้ตั๋ว PN ท่วมหัว”
นายวิโรจน์ ยืนยันว่า จะส่งเรื่องให้อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบ หากอธิบดี บอกว่าการโอนหุ้นแบบนี้ ใช้ตั๋ว PN ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี ต้องให้อธิบดีฯ ออกระเบียบมาให้ชัดว่า ต่อจากนี้ใครโอนหุ้นให้ลูก หลาน เพื่อน ในปีภาษีหนึ่ง เกิน 20 ล้านบาท ถ้าไม่ประสงค์เสียภาษีรับให้ 5% ให้ใช้ตั๋ว PN แสร้งทำได้ เขาจะได้เอาพฤติการณ์แพทองธาร เป็นเยี่ยงอย่าง
นอกจากนี้ เตรียมยื่นคำร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนเรื่องดังกล่าวด้วย ทั้งประเด็นกล่าวหาส่อทุจริต และประเด็นผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“แพทองธาร”ปัดนิติกรรมอำพราง
ด้าน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า ในการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ดำรงตำแหน่ง ได้ยื่นตามขั้นตอนทุกอย่าง ส่วนขณะนี้มีการยื่นคำร้องตรวจสอบ ยังอยู่ในกระบวนการ ป.ป.ช. ที่จะตรวจสอบตามขั้นตอน ยืนยันว่า ยินดี และเต็มใจที่จะแสดงข้อมูลหลักฐาน ต่อ ป.ป.ช.จนกว่าจะได้ข้อสรุป
แพทองธาร ชี้แจงว่า การทำธุรการในเรื่องของหุ้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ก่อนเข้าสู่การเมืองหลายปี ทั้งนี้ในเรื่องของการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ด้วยการซื้อขายผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ PN นั้น มีหนังสือให้คำมั่นสัญญาว่า จะใช้เงินให้กับบุคคลหนึ่ง ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ อีกทั้งมีการปิดอากรแสตมป์ตามกฏหมายเรียบร้อย ขณะที่บางรายการที่ไม่มีการเสียภาษี เนื่องจากยังไม่ได้ชำระเงิน จึงยังไม่ทราบจำนวน แต่ถือเป็นภาระหนี้สินระหว่างตนและครอบครัว
"มีความชัดเจนว่าไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางแต่อย่างใด ทั้งหมดได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ไปหมดแล้ว สามารถตรวจสอบได้แน่นอน วิธีการปรับโครงสร้าง PN ไม่ใช่เรื่องใหม่ ขอให้ท่านไปถามสมาชิกในพรรคของท่านดูว่า มีใครทำธุรกิจในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องปกติ”
วางแผนชำระหนี้-ภาษีปีหน้า
แพทองธาร ยังชี้แจงกรณีฝ่ายค้านระบุการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งทุจริต ผู้ใหญ่จะออกตั๋วใช้เงินให้กับกระบวนการค้ายาเสพติดนั้น ส่วนตัวคิดว่า เป็นเรื่องที่จินตนาการไปนิดนึง เรื่องนี้มีความชัดเจนว่า การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จะทำกับธุรการที่ถูกกฎหมาย โดยเปิดเผย ฝ่ายผู้ซื้อผู้ขายรับภาระหนี้สินระหว่างกัน การกระทำนอกกฎหมายใดๆ ไม่สามารถทำได้
“อยากชี้แจงว่า การใช้วิธีออกตั๋วสัญญาใช้แทนการรับให้ เพื่อที่จะให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเปิดเผย ไม่ใช่การแอบทำอะไร ในเรื่องการปรับโครงสร้างหุ้น จำเป็นต้องใช้การซื้อขาย แต่ ณเวลานั้น ไม่ได้มีความพร้อมที่จะชำระค่าหุ้นด้วยเงินสด จึงใช้วิธีทำตั๋วสัญญาแทน และแสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว
รวมทั้งมีการพูดคุยตกลงกันในครอบครัวเพื่อวางแผนชำระหนี้ โดยรอบแรกจะเกิดภายในปีหน้า เมื่อชำระแล้ว หลักฐานจะปรากฏในบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช.แน่นอน ตรวจสอบได้ พอมีการซื้อขาย มีการต้องจ่ายภาษี ยังไงก็หลบการจ่ายภาษีไม่ได้อยู่แล้ว” แพทองธาร ระบุ
+++++++
ฝ่ายค้านยื่นสอบภาษี-นายกฯไม่หวั่น
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคประชาชน เปิดเผยวันที่ 25 มี.ค. 2568 ถึงความคืบหน้าการยื่นตรวจสอบกรณี น.ส.แพทองธาร ใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ในการซื้อขายหุ้นภายในครอบครัว ซึ่งอาจเข้าข่าย เลี่ยงภาษี 218 ล้านบาท โดยตั้งคำถามว่า กรมสรรพากรจะมีมาตรการอย่างไรต่อกรณีนี้
เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการตรวจสอบ อาจทำให้เจ้าของธุรกิจรายอื่น ใช้ช่องโหว่นี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีได้ โดยเฉพาะการโอนหุ้นหรือทรัพย์สินให้ทายาทโดยไม่ต้องเสียภาษีการรับให้ (ร้อยละ 5)
ประเด็นที่น่าจับตา คือ ผู้สอบบัญชีและกรมสรรพากรยังไม่มีคำตอบ ว่าแนวทางการใช้ตั๋ว PN ของ น.ส.แพทองธาร ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และ มีคำพิพากษาศาลฎีกายืนยันว่า หากตั๋ว PN ใช้ในลักษณะจำแลง (ไม่เกิดการซื้อขายจริง) อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
นายวิโรจน์ ยืนยันว่า จะเดินหน้ายื่นเรื่องนี้ต่อ ป.ป.ช. อย่างแน่นอน แต่จะหารือกับพรรคก่อนกำหนดวันยื่นอย่างเป็นทางการ
ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นกรมสรรพากรตรวจสอบภาษี รวมถึงจะยื่น ป.ป.ช.สอบเรื่องจริยธรรม ว่า ยื่นตามกระบวนการได้เลย จะได้ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อ ยืนยันส่วนตัวทำตามกฎเกณฑ์ทุกอย่าง หากจะไปตรวจสอบอะไรเพิ่มก็ได้ เพราะตั้งแต่เข้าการเมืองมาก็ทราบอยู่แล้วว่าต้องโดนตรวจสอบ
“เรื่องบัญชีของบ้านเราได้ดูอย่างละเอียดตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ทุกอย่างโปร่งใส บัญชีเล็กบัญชีน้อยไม่มีอะไรปกปิดอยู่แล้ว ที่เราชี้แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ รวมถึงยังคอยถามอยู่ตลอดด้วยซ้ำว่า ถ้าซื้อใหม่จะต้องทำอย่างไร เราพยายามจะให้เคลียร์ตลอด”