ในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ลดค่าลงมารุนแรงที่สุดตั้งแต่ผมอยู่ในประเทศเมียนมา ทำให้ตกอกตกใจกันทั้งเมือง โดยเฉพาะนักลงทุนที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมา ตัวผมเองแม้จะเป็นผู้ที่รู้ใส้สนกลในของประเทศนี้มากคนหนึ่ง แต่ก็ไม่วายที่จะตื่นตระหนกด้วยเช่นกัน แต่ก็พยายามใช้วิจารณญาณที่นิ่งที่สุด เข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการหยุดการขายสินค้าชั่วคราว เพื่อรอให้สถานการณ์นิ่งลงมา หลังจะที่ฝุ่นสร่างซาลงไปในวันต่อมา
เราก็ได้เห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเมียนมา ที่ใช้มาตรการที่แรงและรวดเร็ว เข้าไปจัดการกับปัญหาทันที ทำให้ค่าเงินที่ตกลงไปมาก สะท้อนกลับมาบ้างทันทีเช่นกัน ดังนั้นในจังหวะแรกของวันที่อัตราค่าเงินดำดิ่งลงไป ใครเร่งรีบทำการขายเงินเหรียญสหรัฐ ย่อมขาดทุนย่อยยับเลยละครับ
ผมจึงอยากนำเอาวิธีการที่ประเทศทั่วๆ ไปเขานิยมใช้ในการแก้ไขปัญหา มาเปรียบเทียบกับวิธีการที่ประเทศเมียนมานำมาใช้ในช่วงนี้ มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้คิดตาม เพื่อเป็นบทเรียนนะครับ ถือว่ารู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามนะครับ
โดยทั่วไปทุกๆ ประเทศ เขาจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจอยู่สองมาตรการด้วยกัน คือนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ส่วนใหญ่ทั้งสองนโยบายนี้ เขาจะนำมาใช้ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจหรือลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก โดยนโยบายการคลังเขาจะใช้ในลักษณะที่ไม่รุนแรง หรือไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน เพราะเป็นนโยบายระยะกลางของประเทศ เช่น การจัดการใช้งบประมาณแผ่นดิน ในการลงไปใช้กับโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป
ในขณะที่นโยบายการเงิน มักจะอยู่ในความดูแลของธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ซึ่งของประเทศเมียนมาเองก็อยู่ในความดูแลของธนาคารกลางประเทศเมียนมา การใช้นโยบายการเงิน เป็นการใช้ยาแรงที่เข้ามาช่วยกระตุ้นหรือลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ที่ต้องการดำเนินการอย่างฉับพลัน
ดังนั้น นโยบายการคลังก็จะใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ส่วนนโยบายการเงิน ก็ใช้เงินตราที่หมายรวมถึง ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณเงินสดในท้องตลาด มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ พออธิบายอย่างง่ายๆ แบบนี้ เชื่อว่าทุกท่านน่าจะมองออกบ้างแล้วว่าทั่วไป ทุกประเทศเขาจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนะครับ
ต่อมาเราต้องมาดูลึกลงไป ว่าการกำหนดมาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยดำเนินการผ่านตลาดเงิน ที่มีธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเป็นมือเป็นไม้ให้แก่ธนาคารกลางเขาทำกันอย่างไร? ธนาคารกลางก็จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องวางเงินประกันไว้ที่ธนาคารกลาง โดยคิดเป็นเปอร์เซนต์จากทุนจดทะเบียนของธนาคารนั้นๆ เมื่อธนาคารกลางต้องการเพิ่มกระแสเงินสดในตลาดเงิน ก็จะออกมาตรการลดเปอร์เซนต์ของสินทรัพย์สภาพคล่อง จะทำให้กระแสเงินสดในตลาดเงินเพิ่มมากขึ้น จากการหมุนไป-มาของเม็ดเงินเพื่อสร้างกระแสเงิน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็จะแข็งค่ามากขึ้น เศรษฐกิจก็จะกระตุ้นให้เพิ่มมากขึ้น หรือถ้าจะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ก็จะออกมาตรการเพิ่มการดำรงค์สินทรัพย์สภาพคล่อง กระสเงินสดในตลาดเงินก็จะลดลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินหรือค่าของเงินก็จะอ่อนค่าลง เศรษฐกิจก็จะลดความร้อนแรงลง
ในกรณีที่ต้องการให้ที่จะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อหรือเงินฝืด เขาก็จะอาศัยมาตรการทางนโยบายการเงินนี้แหละครับ เพราะผลที่จะตามมาจะรวดเร็วกว่าการใช้นโยบายการคลัง ในการใช้นโยบายการเงินนี้ นอกจากใช้มาตรการดำรงทรัพย์สินสภาพคล่องแล้ว ก็จะใช้การเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้กระแสเงินสดในตลาดเงินเพิ่มหรือลดด้วย
เพราะถ้าหากเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ก็จะเกิดแรงจูงใจให้คนนำเงินไปฝากมากขึ้น การนำเงินมาลงทุนก็จะน้อยลง แต่ถ้ากำหนดให้ลดอัตราดอกเบี้ย คนก็จะนำเงินไปลงทุนมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยถูกลงไงละครับ เมื่อเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่เทียบกับดอกเบี้ยจากต่างประเทศที่ยังคงที่ นักลงทุนจากต่างประเทศทั่วไปก็จะนำเงินเข้ามาสู่ประเทศมากขึ้น ก็จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแข็งค่าขึ้น เพราะเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันก็จะเหมือนเดิมครับ เงินทุนเคลื่อนย้ายลดลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็จะอ่อนค่าลงครับ เห็นมั้ยครับว่าทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไปครับ
ในขณะที่ประเทศเมียนมาเกิดปัญหาทางการเงินครั้งนี้ มันรุนแรงเกินกว่าจะใช้ยาแรงแล้วละครับ เพราะดุลการชำระเงินทั้งสามขา เช่นขาที่ 1 คือบัญชีเงินเดินสะพัด ขาที่ 2 คือบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย ขาที่ 3 คือบัญชีสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งสามขาล้วนมีปัญหาหมด ชะงักทุกช่องทาง ทำให้การใช้ยาแรงอย่างนโยบายการเงิน น่าจะไม่ได้ผลทันตาเห็น
รัฐบาลเมียนมาจึงเลือกใช้วิธีการ “มาตรการผ่าตัดเศรษฐกิจ” ออกมาใช้ กล่าวคือก็อัดเม็ดเงินลงไปตรงๆ เลย นั่นคือการสร้างอุปทานของเงินให้เกิดขึ้นในพริบตา และยังต้องเป็นเม็ดเงินที่ทำให้เกิดปัญหา ในกรณีของประเทศเมียนมา เม็ดเงินที่ขาดแคลนคือ “เงินเหรียญสหรัฐ” ดังนั้นรัฐบาลจึงอัดเม็ดเงินเหรียญสหรัฐลงไป 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้วันรุ่งขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นทันตาเห็น จากวันที่ 31 สิหาคม อยู่ที่ 4,600 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ พอมาตรการลงไป วันที่ 8 ที่ผ่านมา เนรมิตให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 3,550 จ๊าดทันที
เห็นมั้ยครับว่าการผ่าตัดครั้งนี้ชะงัดจริงๆ แต่คำถามที่ต้องมีคำตอบคือ รัฐบาลเมียนมาจะมีเงินเหรียญสหรัฐมากเพียงพอที่จะใช้ในการต่อสู้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรือไม่? โชคดีว่าคนที่โจมตีค่าเงินครั้งนี้ ไม่ใช่พ่อมดทางการเงิน จอร์จ โซรอส เพราะประเทศไทยเราเอง ก็เคยโดนเขาคนนี้กระหน่ำเอา เมื่อครั้ง “วิกฤติเศษรฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540” มาแล้วครับ
ขอให้ประเทศเมียนมาจงโชคดีแก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จ เพราะถ้าไม่สำเร็จ ผมก็เจ็บหนักด้วยเช่นกันครับ