นับว่าเป็นการผลัดใบของกลุ่มทีมงานบริหารประเทศของรัฐบาลเมียนมาครับ ผมเองจำได้ว่าทุกปีจะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจ หรือมีการประกาศที่สำคัญกันแต่ในปีนี้ มักจะทำกันในเดือนเมษายนเป็นหลัก แต่ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงนอกฤดูกาลก็ว่าได้ครับ หลังจากที่เพิ่งแต่งตั้งกันในเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าตื่นเต้น คือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีการปรับเปลี่ยนกันหลายตำแหน่งมากๆ ซึ่งมีทั้งที่เกษียณอายุราชการ มีทั้งโยกย้ายตำแหน่ง วันนี้ผมจะขอนำเอาตำแหน่งที่สำคัญๆ และที่ผมพอจะรู้มาบ้างเล็กน้อย มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมเองก็ได้ข้อมูลมาจากเพื่อนๆ ที่เป็นชาวเมียนมา ที่เขาสนใจเรื่องของการเมืองภายในประเทศของเขา ได้นำมาเล่าให้ผมฟัง ซึ่งก็เป็นการเล่าต่อจากขี้ปากของเพื่อน ดังนั้นต้องฟังหูไว้หูนะครับ ถือว่าเป็นการทำความรู้จักเพื่อนบ้านของเราบ้าง ไม่ได้เสียหายอะไรครับ
คนแรกที่ผมรู้จักดี เพราะเคยพบกับตัวท่านที่งานสัมมนา ในฐานะที่เป็นวิทยากรร่วมเวทีเดียวกันกับท่านมาก่อน และได้เคยทั้งฟังท่านพูดและเสวนากับท่านแล้ว ส่วนตัวผมมีความรู้สึกประทับใจท่านมาก คือท่าน U Aung Naing Oo (อู อ่อง ไหน่ อู) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านพ้นไปหมาดๆ
ท่านได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ท่านเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยมาก อีกทั้งยังเคยมาเยือนประเทศไทยเป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายต่อหลายครั้ง ท่านนิยมชมชอบประเทศไทยมาก เชื่อว่าในอนาคตการทำการค้ากับประเทศไทย ต้องมีการพัฒนาการในทิศทางที่ดีแน่นอนครับ ส่วนตำแหน่งเดิมของท่าน มี ดร.กาน ส่อ อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามารับหน้าที่แทน ซึ่งดร.กาน ส่อ ก็เป็นคนที่มีความคิดทันสมัยด้วยเช่นกัน ดังนั้นทั้งการค้า-การลงทุนในอนาคต ต้องดูกันต่อไปว่าทิศทางจะเป็นบวกมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไปครับ
ส่วนท่านอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพานิชย์ท่านที่เพิ่งผ่านพ้น คือท่าน Dr. Pwint Hsan (ดร.พวิน ซาน) ท่านเป็นรัฐมนตรีชุดแรกที่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่จริงท่านไม่ได้เป็นคนหน้าใหม่ในวงการเมืองของเมียนมา ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นแพทย์ แต่อาจจะเป็นเพราะท่านเองลงมาเล่นการเมืองมานาน และก็เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ในยุคของท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลในปี 2010 มาแล้ว อีกทั้งยังเป็นสมาชิกพรรค USDP ที่เป็นพรรคสีเขียวมาก่อน ดังนั้นถือว่าสายตรงทหารเลยก็ว่าได้
ในครั้งนี้ท่านได้ถูกโยกให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทนที่ตำแหน่งเดิม ถือว่าเป็นสายแข็งมากๆ ท่านหนึ่งทีเดียวครับ ส่วนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านอู เมี่ยน จ๋าย (U Myint Kyaing) ก็ต้องย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรแทนครับ
ตำแหน่งที่สำคัญในการโยกย้ายครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ก็มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่งอีกหนึ่งตำแหน่ง ซึ่งก็คือตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ซึ่งท่านที่มาดำรงตำแหน่งใหม่ก็เป็นที่คุ้นเคยกับประเทศไทยเป็นอย่างดี คือท่าน ดอร์ ตาน ตาน ส่วย ท่านผู้นี้เป็นหญิงแกร่งคนหนึ่ง และเป็นลูกหม้อธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ท่านถูกแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ซึ่งการประชุมเกี่ยวกับการเงิน-การธนาคารกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านก็มักจะเข้าร่วมประชุมด้วยหลายครั้ง
ข่าววงในบอกว่า ท่านยังเป็นคนที่เสนอให้ผู้ที่มีเงินสกุลดอลลาร์ จะต้องทำการแลกเปลี่ยนเงินสกุลเงินดอลลาร์เป็นเงินจ๊าดภายใน 24 ชั่วโมง และในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่านได้ถูกลอบยิงหน้าบ้านพักของท่านมาแล้ว โชคดีที่ไม่ได้รับอันตรายมาก เชื่อว่าตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา เป็นตำแหน่งที่สำคัญของประเทศ เพราะสามารถใช้นโยบายการเงิน ที่เป็นนโยบายที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจะต้องคัดสรรหาคนที่ไว้วางใจได้ เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ เราคงต้องติดตามดูผลงานของท่านต่อไปครับ
อีกตำแหน่งหนึ่งที่เป็นที่คาดหวังของประชาชนชาวเมียนมาเป็นอย่างยิ่ง คือตำแหน่งประธานสำนักงานปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น เพราะหลังจากที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่แสดงออกถึงความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลทหาร และก็มีไม่น้อยที่ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการเรียกรับผลประโยชน์ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย จึงได้แต่งตั้งให้ท่าน อู ตาน ส่วย ที่ย้ายข้ามห้วยมาจากสำนักงานองค์การข้าราชการพลเรือน เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งผลงานท่านจะเข้าตาประชาชนหรือผู้นำประเทศหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ
การปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงครั้งนี้ มีการประกาศออกมาเป็นคำประกาศทั้งหมด 12 ฉบับ มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งมากถึงสามสิบกว่าตำแหน่ง ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการผลัดใบของอำนาจ ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของผู้นำรัฐบาลประเทศเมียนมา หากสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนครั้งสำคัญ ซึ่งผมเชื่อว่าผู้นำประเทศอย่างท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย คงจะต้องมั่นใจเกินร้อยละครับ ถึงได้ดำเนินการในครั้งนี้ครับ