ในวันที่ 22 ที่ผ่านมา ผมเห็นข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ของเมียนมา ที่ทางการเมียนมาได้นำออกมาเผยแพร่ คือข่าว ฯพณฯท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เปิดโอกาสต้อนรับคณะของ ฯพณฯท่าน U Wunna Mung Lwin รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ฯพณฯท่าน Dr. Kan Zaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และฯพณฯท่าน U Ko Ko Hlaing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ที่เป็นคณะใหญ่ในการเดินทางออกมายังกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อแสวงหาลู่ทางในการเชิญชวนให้เข้าไปลงทุนและทำการค้าในประเทศเมียนมา ซึ่งนี่เป็นการจัดคณะที่เห็นเด่นชัดว่า ประเทศเมียนมามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดประเทศต้อนรับกระแสเศรษฐกิจของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่โลกยุคใหม่เสียทีครับ
ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าประเทศเมียนมาอย่าได้มัวแต่ตกอยู่ในภวังค์อีกต่อไปเลยครับ ควรจะต้องหันมามองโลกที่กำลังจะเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด หลังจากที่เคยเปลี่ยนแปลงมาแล้ว ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อปีค.ศ.1760 -1850 มาแล้วหนึ่งครั้ง
ต่อมาการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือช่วงยุคปี ค.ศ.2000 ที่ระบบคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาสู่สังคมโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของยุค New World Oder ที่สังคมมนุษย์ทั้งโลก ได้หันมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาทดแทนระบบเก่าๆ นั่นเอง
จากนั้นหลายสิ่งหลายอย่างในโลกใบนี้ ก็เริ่มมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีหลากหลายธุรกิจเกิดการล่มสลาย และปรับเปลี่ยนตัว (Disruption) ครั้งยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา เราเองก็คาดไม่ถึงว่า การใช้ IT เข้ามาสู่ชีวิตประจำวัน แล้วจะมีหลากหลายสิ่งล้มหายตายจากพวกเราไป เช่น การใช้ฟิล์มถ่ายรูป การฟังเพลงด้วยการฟังเสียงบันทึกจากแผ่นเสียง การใช้โทรศัพพ์เคลื่อนที่ การใช้อินเตอร์เนต ฯลฯ ซึ่งในวันเวลาเหล่านี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะต้องใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่อย่างไรนั่นเองครับ
ในขณะที่เราได้ประสบพบเจอกับการระบาดของโรคร้าย COVID-19 ในชีวิตนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนถ่ายระบบการค้าการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ครั้งใดๆ เช่นกันครับ เราได้เห็นรูปแบบการค้า ที่หันมาให้ความสำคัญกับระบบออนไลน์เข้ามาสู่สังคมเรา หรือการลงทุนที่มีความแตกต่างจากอดีตบ้างแล้วครับ หากเรายังคงใช้ระบบเก่าๆ เดิมๆ อยู่ ผมก็มีความเชื่อว่า เราคงต้องตกยุคแน่นอนครับ และหากประเทศทั้งประเทศไม่ได้มีการปรับตัว นั่นก็จะถูกทิ้งไว้ด้านหลังประเทศอื่นๆ อย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกันครับ
การมาครั้งนี้ของคณะรัฐมนตรีของประเทศเมียนมา แม้ผมจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าประชุม (เพราะผมตัวเล็กเกินไป) แต่ผมก็มีความเชื่อว่า เขาก็คงตระหนักถึงเหตุผลที่ผมกล่าวมาแล้วแน่นอนครับ เพราะในช่วงสามปีที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาโดนมาแล้วสามเด้ง
ซึ่งก็คือทั้งการระบาดของโควิด การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการถูกกลุ่มผู้ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารออกมาเคลื่อนไหว ทำให้แม้จะมีผู้บริหารประเทศเก่งกาจสักแค่ไหน ก็ยากลำบากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอนครับ ดังนั้นเขาเองต้องออกแรงมากกว่าประเทศอื่นเป็นสามเท่าเลยครับ
ถ้าจะมองจากมุมมองของคนที่ทำการค้า-การลงทุนในประเทศนี้มาสามสิบกว่าปีเช่นผม ผมก็มองว่ายากแสนยากเช่นกัน แต่ต้องมีความสุขุมรอบคอบมากกว่าปกติ จึงจะก้าวผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ไปได้
การที่รัฐบาลจะออกนโยบายอะไรก็ตาม หากพิจารณาด้วยความละเอียดรอบครอบ ก่อนประกาศออกเป็นกฎข้อบังคับของกฎหมาย ที่จะส่งผลกระทบออกมาเป็นวงกว้าง ต้องคิดให้ละเอียดก่อนเสมอ เพราะทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีสองด้านเสมอ
มีหลายนโยบายที่ทางการเมียนมาได้ประกาศออกมาใช้แล้ว อาจจะได้ผลในทางบวก ในทางกลับกันก็มีหลายนโยบายที่มีผลลบมากกว่าผลบวก ในมุมมองของผมเช่นกันครับ ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆไม่ได้ไปดิสเครดิตใคร ผมเชื่อว่านโยบายการปิดประตูการค้าชายแดน หรือนโยบายการใช้ Earning money ที่จะต้องมีรายได้จากการส่งออก เพื่อมาหักลบกลบหนี้กับเงินที่จะต้องใช้จ่ายในการนำเข้า
ซึ่งนโยบายนี้ แม้จะเป็นการช่วยให้ประเทศในการไม่ต้องขาดดุลการค้าต่อประเทศอื่น เพราะประเทศตนกำลังตกอยู่บนที่นั่งที่ลำบาก แต่อย่าลืมว่านี่เป็นดาบสองคม ที่น่าจะส่งผลทางด้านลบมากกว่าด้านบวกก็เป็นได้ครับ
เพราะประเทศเมียนมายังต้องการเทคโนโลยีด้านการผลิตอยู่ อีกทั้งการลงทุนจากต่างประเทศมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจากต่างประเทศได้ ก็จะขาดนักลงทุนที่จะนำเอาทั้งเทคโนโลยี และทุนการผลิตเข้าสู่ประเทศ
ต้องไม่ลืมว่า ปัจจัยของการลงทุนนั้น โอกาสแพ้หรือชนะ ปัจจัยด้านเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ส่วนใหญ่นักลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นผู้ที่นำเอาเทคโนโลยีและความรู้ด้านต่างๆ เข้ามาพร้อมเงินทุนเสมอ ดังนั้นจะต้องคิดให้ถ้วนถี่นะครับ การประกาศนโยบายใดๆ ออกมา หากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษครับ
วันนี้ประเทศเมียนมา หากยังคงต้องการควบคุมดุลการค้าและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของตนเอง ผมก็มีความคิดเห็นว่า การออกนโยบายที่ผ่านมา แม้จะสามารถทำให้การขาดดุลการค้าลดลง แต่ผลที่จะตามมา ก็อาจจะมีผลลบด้านการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน(Consumption)ได้
กล่าวคือ วันนี้การผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เพราะด้านการผลิตยังคงอยู่ในช่วงที่กำลังเริ่มต้น ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกหน่อย หากปิดกั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ก็เป็นที่น่าคิดนะครับ เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อรายได้ประชาชาตินั้นมีอยู่ 4 เครื่องยนต์คือ C+I+G+(X-M) เพราะฉนั้นหากมองแต่ตัว X-M อย่างเดียว ตัวอื่นๆไม่ได้ให้ความสำคัญไม่ได้เด็ดขาดครับ เดี๋ยวเศรษฐกิจจะเกิดหัวทิ่มลงดิน แล้วจะแก้ไขลำบาก เป็นลิงติดแหแน่นอนครับ