วันที่ 27 ก.ย. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่ามติที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบ ปรับลดเวลาเคอร์ฟิว หรือ ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามวิกาลจากเดิม เวลา 21.00-04.00 น. เปลี่ยนเป็นตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
และมีมติขยายการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย. 2564
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการคลายล็อกดาวน์ หรือ ผ่อนปรนมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ อาทิ สถานประกอบการออกกำลังกาย หรือฟิตเนส ให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ รวมไปถึงอนุญาตให้สามารถเล่นดนตรีในร้านอาหารได้.
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม โฆษกศบค.จะแถลงรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง
จากนั้น นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ยืนยันว่า ศบค.ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน ในพื้นที่สีแดงเข้ม อีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 30 พ.ย. 2564 ระหว่าง รอพ.ร.ก.โรคติดต่อ บังคับใช้
ส่วนเคอร์ฟิว ก็เปลี่ยนเป็น 22.00 – 04.00 น. โดยทดลอง 15 วัน จากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ลิงค์ >>> ถ่ายทอดสดผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ในการประชุมศบคซชุดใหญ่ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องไม่ประมาท ยังต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึง ติดตามการกระจายเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็จะขยายรูปแบบ Sandbox ในส่วนกิจการ/กิจกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้น
อาทิ ปรับกิจกรรมภายในโรงแรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการเปิดประเทศต่อไป นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ภาคแรงงานและภาคประชาชนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด–19 มากขึ้น ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ สธ. ช่วยพิจารณาช่วยเหลืออุตสาหกรรมบันเทิง/ศิลปินพื้นบ้าน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังดีใจที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันได้เกิน 1 ล้านโดส มั่นใจไทยมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้บรรลุตามเป้าหมาย โดยฝากให้ สธ. ช่วยดูแลการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับเด็กเล็กด้วย นายกรัฐมนตรียังรับทราบแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวโดยจะเริ่ม 1 ตุลาคม นี้
นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนการช่วงเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือ Pandemic สู่โรคประจำถิ่น Endemic ซึ่งต้องขอให้แต่ละฝ่ายถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละช่วงของการแพร่ระบาด เพื่อเป็นแนวทางในการรองรับสถานการณ์ในอนาคตด้วย