นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. (ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย" เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง
หลายประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามากเนื่องจากความรุนแรงของโรคลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงชะลอลงบ้างแต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ
ดังนั้น ภาคการส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะยังเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้หากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อ supply chain ของภาคการผลิตได้
ส่วนความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป
ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ก็จะกดดันให้การค้าโลก รวมถึงการค้าระหว่างไทยและรัสเซียได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ หากทางรัสเซียตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จะยิ่งกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอันดับที่สองของโลก
อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่สูงอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเหล็ก และอลูมิเนียม ในกรณีที่แย่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสแรกของปี 2565 อาจพุ่งสูงกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสินค้าและบริการในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 1.5-2.5% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจปี 2565 มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้เนื่องจากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown
อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้หลายช่องทาง รวมถึงเงินเฟ้อ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบกับผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวม
"กกร. จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในกรอบ 1.5% ถึง 2.5%"
อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากสถานการณ์การปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ โดยเฉพาะในหมวดอาหารสด และพลังงาน ที่มีการทยอยปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก
อาจส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะชะลอการบริโภคลง ประกอบกับประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะสะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า กกร. มีข้อเสนอ ดังนี้
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชน โดย กกร. ขอมีส่วนร่วมในคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศบค.) เพื่อเสนอแนะและให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด -19 ให้มาตรการที่ออกมามีประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการได้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากภาครัฐให้การสนับสนุน โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า
หรือมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการนั้นจะเป็นประโยชน์ทั้งส่งเสริมการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ให้กับบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตอย่างมาก