กรมหม่อนไหมผุด “ธนาคารเส้นไหม” นำร่องนครพนม

10 ก.พ. 2560 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2560 | 16:09 น.
กรมหม่อนไหมเปิด  “ธนาคารเส้นไหม” นำร่องที่เมืองนครพนม ตั้งเป้าปี 60 ขยายผลเพิ่ม 5 จังหวัด ผ่าทางตันปัญหาขาดแคลนเส้นไหมคุณภาพในชุมชน เพิ่มช่องทางเกษตรกรทอผ้าได้ตลอดปี หวังช่วยลดต้นทุนการผลิตผ้าไหมหัตถกรรม เพิ่มรายได้

นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ปีนี้กรมหม่อนไหมมีแผนเร่งจัดตั้งธนาคารสินค้าเกษตร (ธนาคารเส้นไหม) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเปิดธนาคารเส้นไหมนำร่องแห่งแรกที่จังหวัดนครพนม ภายใต้ชื่อ “ธนาคารเส้นไหมศูนย์ศิลปาชีพฯวัดธาตุประสิทธิ์” อำเภอนาหว้า จากนั้นจะทยอยเปิดธนาคารเส้นไหมเพิ่มอีกใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี  ชัยภูมิ  สกลนคร  นครราชสีมา  และมหาสารคาม  เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีเส้นไหมคุณภาพได้มาตรฐาน สำหรับใช้ในการทอผ้าไหมอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งสำรองเส้นไหมในชุมชน ช่วยลดปัญหาขาดแคลนเส้นไหมคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วย คาดว่า จะทำให้เกษตรกรสามารถทอผ้าได้ตลอดปี ทั้งยังช่วยลดรายจ่าย ลดต้นทุนการผลิตผ้าไหมหัตถกรรม และสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น

เบื้องต้นได้ส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ในพื้นที่ดังกล่าวก่อตั้งธนาคารเส้นไหม โดยแต่ละกลุ่มต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน สามารถดำเนินการผลิตเส้นไหมใช้หมุนเวียนในชุมชน และมีสำรองไว้เพื่อบริการแก่สมาชิกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม/ธนาคาร นอกจากนั้น กลุ่มยังต้องดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง ทั้งยังต้องมีสถานที่ดำเนินกิจกรรม เช่น ห้องเก็บเส้นไหมที่ได้มาตรฐาน มีโรงรวบรวมเส้นไหม เป็นต้น และต้องมีเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านธนาคารปัจจัยการผลิตด้านเส้นไหมด้วย สำหรับเกษตรกรที่จะเข้าใช้บริการธนาคารเส้นไหมได้นั้น ก็ต้องเป็นสมาชิกของธนาคารฯ มีกิจกรรมทอผ้าต่อเนื่องและขาดแคลนเส้นไหม ซึ่งทางกรมหม่อนไหมจะสนับสนุนเส้นไหมคุณภาพให้กับธนาคารเส้นไหมทุกแห่ง ธนาคารละ 100 กิโลกรัม เพื่อเป็นทุนสำรองหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืมเส้นไหมไปทอผ้า

นางสุดารัตน์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของธนาคารเส้นไหมศูนย์ศิลปาชีพฯวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ว่า ธนาคารเส้นไหมศูนย์ศิลปาชีพฯวัดธาตุประสิทธิ์ มีสมาชิก จำนวน 50 ราย ได้กำหนดทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงาน 2 ลักษณะ คือ การยืมไหม และการจำหน่ายเป็นเงินสด ในส่วนของการยืมไหมนั้น ธนาคารฯดังกล่าวได้กำหนดให้สมาชิกยืมเส้นไหมไปทอผ้าได้ ครั้งละไม่เกิน 3 กิโลกรัม/ราย และกำหนดให้ส่งคืนเส้นไหมภายใน 2 เดือนนับจากวันรับเส้นไหม โดยธนาคารฯสามารถคิดดอกเบี้ยได้ร้อยละ 1 ของราคาเส้นไหม ณ ปัจจุบันต่อเดือน กรณีที่สมาชิกไม่คืนเส้นไหมตามกำหนดจะต้องเสียค่าปรับเพิ่มกิโลกรัมละ 50 บาท/เดือน สำหรับผู้ยืมที่ยังไม่คืนเส้นไหมจะไม่สามารถยืมเส้นไหมใหม่ได้ ผู้กู้ยืมจะต้องคืนเป็นเงินสดตามราคาปัจจุบันของเส้นไหมประเภทเดียวกัน พร้อมจ่ายดอกเบี้ยและค่าปรับ ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมจะต้องทำสัญญา/ข้อตกลงกับธนาคารโดยมีสมาชิกค้ำประกันร่วมอย่างน้อย 1 คน และธนาคารเส้นไหมต้องมีเส้นไหมคงเหลือในสต๊อกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เพื่อเป็นทุนสำรอง

“สำหรับการจำหน่ายเป็นเงินสด ธนาคารฯจะจำหน่ายให้สมาชิกได้คราวละไม่เกิน 3 กิโลกรัม/ราย และคิดกำไรได้ร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อเส้นไหม นอกจากสมาชิกผู้กู้จะส่งคืนในรูปของเส้นไหมแล้ว ยังสามารถชำระคืนเป็นเงินสดได้ อย่างไรก็ตาม กรมหม่อนไหมได้เน้นให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธนาคารฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและทำให้ธนาคารเส้นไหมมีความมั่นคงสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างยั่งยืน คาดว่า จะเป็นต้นแบบและเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเส้นไหมคุณภาพในชุมชนได้ และทำให้สมาชิกกลุ่มมีแหล่งเส้นไหมคุณภาพดีสำหรับการทอผ้าอย่างเพียงพอ สามารถทอผ้าไหมได้ตลอดปี พร้อมลดต้นทุนการผลิตผ้าไหมหัตถกรรม และทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว