สธ.เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในเด็ก ขอให้สถานศึกษาคัดกรองเด็กเล็กทุกวัน
สธ.เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็กพบเด็กป่วยแล้ว 6,790 ราย แนะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานศึกษาคัดกรองเด็กทุกวัน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เฝ้าระวัง โรคมือ เท้า ปาก หลังจากเดือนที่ผ่านมาพบเด็กเล็กป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนมากพบในสถานที่ ที่มีเด็กจำนวนมากมาอยู่รวมกัน เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วย 6,790 ราย ทั่วประเทศ ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
สำหรับการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า ให้เด็กล้างมือบ่อยๆหรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกครั้งที่พบว่ามีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก หากพบเด็กป่วยให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านและให้พักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย หากพบว่ามีเด็กป่วยหลายคนชั้นเดียวกันก็ควรพิจารณาปิดห้องเรียนนั้นๆและถ้าพบเด็กป่วยหลายห้องควรพิจารณาปิดโรงเรียน ทำความสะอาด และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
โรคมือ เท้า ปาก จะเกิดบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ การติดต่อของโรคจะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปากนั้น บริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดงต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บปาก โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
“วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคมือ เท้า ปาก คือรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และ ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่สาธารณะ ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.โสภณ กล่า