โอช้อปปิ้งเพิ่มแพลตฟอร์ม หวังออนไลน์-แอพเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ไล่ล่าเป้า30%
“โอช้อปปิ้ง” กางแผนยํ้าผู้นำตลาดโฮมช็อปปิ้งเมืองไทย พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อผ่านออนไลน์-แอพพลิเคชัน บนมือถือให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นหวังขยายฐานผู้ซื้อสู่คนรุ่นใหม่ พร้อมเพิ่มจำนวนสินค้ากว่าเท่าตัวมั่นใจสิ้นปีโกยยอดโต 30%
นางสาวศศิธร สุวรรณฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด หรือโอ ช้อปปิ้ง ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การแข่งขันในธุรกิจโฮมช็อปปิ้งในเมืองไทยเริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลายด้านที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ทั้งกลุ่มทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุน และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจทีวีของไทยบางรายที่ให้ความสนใจในการเปิดตัวธุรกิจโฮมช็อปปิ้งขึ้นเอง ขณะที่การแข่งขันในอนาคตยังไม่สามารถประเมินรูปแบบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากธุรกิจโฮมช็อปปิ้งของเมืองไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาไลเซนส์ทางธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เพื่อหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนงานในการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในปีนี้ได้เตรียมงบประมาณทางการตลาด 2% ของยอดขายเพื่อใช้ในการสื่อสารการรับรู้และสร้างการเข้าถึงไปยังเป้าหมายกลุ่มต่างๆ โดยจะเริ่มต้นจากโฟกัสการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังออนไลน์เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึง 35 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสินค้าที่มีจำหน่ายเฉพาะในช่องทางออนไลน์ โดยสังเกตจากพฤติกรรมผู้บริโภค เช่นกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องสาธิตขั้นตอนในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อได้ทันที ก็จะมีการนำมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์เพิ่มเติมจากเดิมที่บริษัทมีสินค้าจำหน่ายอยู่แล้ว
13 กลุ่มสินค้าหรือราว 1,000 รายการ ในทุกแพลตฟอร์ม อาทิ ชุดชั้นใน เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ที่มาจากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 15-20% จากปัจจุบันที่มีอยู่ 10% เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด
"ปัจจุบันเรามีการพัฒนาเว็บไซต์การสั่งซื้อออนไลน์รูปแบบใหม่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยจะยังคงชื่อเดิมรูปแบบเดิม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชันการสั่งซื้อทางมือถือเข้ามาร่วมด้วยและได้มีการเปิดใช้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในปีนี้บริษัทยังได้เตรียมจัดแคมแปญใหญ่ สำหรับโอ ช้อปปิ้งที่ดำเนินธุรกิจในเมืองไทยครบรอบ 5 ปี เพื่อเป็นการตอบแทนกลุ่มเป้าหมายชาวไทยที่ให้การตอบรับในตัวแบรนด์เบื้องต้นอยู่ระหว่างเตรียมแผนงาน"
ขณะที่ช่องทางโฮมช็อปปิ้งทางทีวีบริษัทมีการหาพาร์ตเนอร์รายใหม่เพื่อขยายช่องรายการสื่อสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่โอ ช้อปปิ้งออกอากาศในช่องจีเอ็มเอ็ม,ช่องวัน และทางไทยรัฐทีวี เป็นต้น ซึ่งการหาพาร์ตเนอร์ช่องทีวีรายใหม่เพื่อรองรับการเติบโตและขยายฐานผู้ชมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจทีวีดิจิตอลที่มีการเติบโตสูงอีกทั้งยังมีฐานผู้ชมในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางการบริหารของบริษัทจะไม่เน้นลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างกระแสและการรู้จักแต่ไม่เกิดการซื้อขายสินค้า แต่จะเน้นการคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับลูกค้าและพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยผ่านความเชื่อมั่นในตัวสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งปีนี้มีแผนเพิ่มสินค้าเข้ามาจำหน่ายอีกเท่าตัวจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 1,000 รายการ และบริการที่ดีแม้จะใช้เวลานานกว่าแต่ความยั่งยืนในตัวแบรนด์จะมีมากกว่า
อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 30% หรือคิดเป็นรายได้ 2,235 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาบริษัทปิดรายได้ที่ 1,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าทรงตัวจากปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ชะลอตัวในกอปรกับในช่วงสุดท้ายบรรยากาศการจับจ่ายของประชาชนไม่คึกคักเท่าที่ควร ขณะที่ตลาดรวมธุรกิจโฮมช็อปปิ้งในเมืองไทยปัจจุบันมีมูลค่า 8,000-1 หมื่นล้านบาท
ประกอบไปด้วยผู้เล่นหลักราว 6 รายอาทิ โอ ช้อปปิ้ง,ทีวีไดเร็ค,ทรู ซีเล็ค และไฮ ช้อปปิ้ง เป็นต้น โดยโอ ช้อปปิ้งก้าวเป็นผู้นำตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา และรองลงมา ได้แก่ ทีวีไดเร็คตามลำดับ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560