11 เมษายน 2560 เวลา11.30 น.ที่ถนนข้าวสาร นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมด้วย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสน.ชนะสงคราม ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ “สงกรานต์ กทม.ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดคุกคามทางเพศ”เพื่อสร้างค่านิยมในการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย ให้เกียรติ ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ เคารพกฎหมาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ภายในงานมีการปล่อยขบวนรถสามล้อ รถจักรยานยนต์ รณรงค์สร้างสีสันเทศกาลสงกรานต์ ละครสะท้อนสงกรานต์ที่ไม่สร้างสรรค์ และเดินติดสติ๊กเกอร์หน้าร้านค้า คล้องมาลัยดอกมะลิเชิญชวนนักท่องเที่ยว เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัย
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า ปัญหาการล่วงละเมิด คุกคามทางเพศ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรหมมานาน จนทำให้คนจำนวนหนึ่งมองว่า สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งการฉวยโอกาส ใครจะทำอะไรก็ได้แม้กระทั่งการไปละเมิดสิทธิของคนอื่น สนุกสนานจนเกินเลยขอบเขตความดีงาม ที่สำคัญมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าผู้หญิงร้อยละ52มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงฐานคิดค่านิยมที่ผิดๆ
“เราสนับสนุนให้ทุกจังหวัดรณรงค์สงกรานต์ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ พม.ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือ พมจ.ให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้หากพบเหตุหรือพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ให้รีบโทรแจ้ง1300หรือสถานีตำรวจในพื้นที่ได้ทันที”นายเลิศปัญญา กล่าว
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า สคล.ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯได้จัดรณรงค์สงกรานต์พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดลวนลาม มากว่า10ปี และขณะนี้มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยสร้างสรรค์ทั่วประเทศกว่า101แห่ง เพื่อต้องการรักษาประเพณีอันดีงาม เนื่องจากการเล่นน้ำที่มีน้ำเมา ไม่ปลอดภัย สุมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อาชญากรรม การถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ ที่สำคัญผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักมีอาการมึนเมา ขาดสติ ดังนั้นปัญหาจากน้ำเมา จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ในการดื่ม จากงานวิจัยพบว่า คนไทยสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลาเพียง4.5นาที และหากรวมช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ เฉลี่ยแล้วจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึงวันละ50คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นๆวันที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ13เม.ย.ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ14.00-20.00น.เป็นช่วงออกมาเล่นสงกรานต์และมีการ ส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากผิดปกติ สวนทางกับทุกภาคส่วนที่พยายามอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้มีคนเสียชีวิต แต่ธุรกิจน้ำเมากลับเร่งส่งเสริมการขาย ซึ่งกลายเป็นส่งเสริมการตายนั่นเอง และมีความพยายามจะหลีกเลี่ยงกฎหมาย