สคบ.ตีกรอบขายสินค้าออนไลน์
สคบ.เตรียมหามาตรการคุมขายสินค้าออนไลน์ หลังกฎหมายขายตรงปี 2545 แก้ไขเสร็จและประกาศใช้ ขณะที่เรื่องร้องทุกข์จากประชาชน 6 เดือนแรกอสังหาฯ ยังครองแชมป์สูงสุด
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนทำธุรกิจขายตรงทั้งสิ้น 1,204 บริษัท แต่มีการดำเนินธุรกิจเพียง 800 บริษัทเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการในตลาดแบบตรงมีการจดทะเบียนทั้งสิ้น 474 บริษัท และในช่วง 3 เดือนแรกของปีมีผู้บริโภคเข้าร้องทุกข์กับสคบ.เกี่ยวกับธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงรวมกันทั้งสิ้น 2,104 เรื่อง ส่วนการทำธุรกิจแบบตรงโดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ขณะนี้มีการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มากกว่า 1 หมื่นราย
ปัจจุบันการทำธุรกิจในรูปแบบออนไลน์หรือแบบอี-คอมเมิร์ซ กฎหมายยังไม่ครอบคลุมธุรกิจในช่องทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้ประกอบการรายเล็กใช้เป็นช่องทางในการขายสินค้าได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนธุรกิจ สคบ.จึงมีแนวทางที่จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเข้ามาดูแลธุรกิจในช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการนิยามความหมายของตลาดออนไลน์ที่ครอบคลุมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย แต่ทั้งนี้คงจะต้องรอให้พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงพ.ศ. 2545 ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จและมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
สำหรับความคืบหน้าของกฎหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะผลบังคับใช้ได้ในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ หรือหลังจาก 180 วันหลังจากได้มีการลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยสาระสำคัญของกฎหมายขายตรงที่ได้แก้ไข อาทิ 1.นิยามของตลาดแบบตรงมีการแก้ไขเพิ่ม ในส่วนของสินค้า บริการ ที่จะมีการออกกฎกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อมารองรับกฎหมายลูก 2.ผู้ประกอบการที่มียอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หากเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องมีทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท และรูปแบบบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท 3.การวางหลักประกัน จะต้องมีการออกกฎกระทรวงขึ้นมาเพื่อรองรับ และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษายกร่าง และ 4.จากเดิมกำหนดให้ประธานบริษัทถือหุ้นไม่เกิน 10% ก็จะเพิ่มในส่วนของคณะกรรมการจะต้องถือหุ้นไม่เกิน 10%
ส่วนการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของสคบ. ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559- มีนาคม 2560) พบว่า มีผู้ร้องทุกข์ใน 8 ประเภทหลัก รวม 3,346 ราย แบ่งเป็นไตรมาสแรก 1,645 ราย และไตรมาส 2 อีก 1,701 ราย ซึ่งเรื่องที่ร้องทุกข์มากที่สุดยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย รองลงมาเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภค และบริการ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560