จีนเร่งไทยสร้างรถไฟความเร็วสูง ยกโมเดลลาวจ้างงานเพียบ
กงศุลจีนเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูง ชี้เจรจากันมา 17 ครั้งแล้ว ยกเคสลาวสร้างงานกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง ใช้เวลาประมาณ 5 ปี เชื่อมเออีซี และจีนตอนใต้
นายหลี่ หมิง กัง กงศุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยในการประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และจังหวัดบึงกาฬว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยได้มีการพูดคุยเจรจากันมาแล้ว 17 รอบแล้ว หวังว่า จะสามารถเริ่มต้นโครงการดังกล่าวได้ในเร็วๆนี้ โดยโครงการทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย มีระยะทางประมาณ 600 ก.ม. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นที่ราบ คาดว่า จะทำให้การก่อสร้างได้เร็วกว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศ สปป.ลาวอย่างแน่นอน
"ขณะนี้โครงการทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ได้ลงมือก่อสร้างแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2560 นี้ และคาดว่าว่าจะเสร็จในปี 2564 เนื่องจากภูมิประเทศของประเทศ ลาว 80% เป็นพื้นที่ภูเขา จำเป็นที่จะต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขามากถึง 51 แห่ง และสะพานข้ามเหวอีก 100 กว่าแห่ง ส่วนผลกระทบจากโครงการแทบจะไม่มี เพราะเป็นโครงการที่ทันสมัย ก่อสร้างด้วยเทคนิคชั้นสูงไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์และธรรมชาติอย่างแน่นอน"
นายกัง กล่าวต่อไปว่า โครงการการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เริ่มต้นก่อสร้างจากเมืองหาน ซึ่งเป็นจุดชายแดนจีนลาว ผ่านเข้าเมืองบ่อเต้นของ ลาว ผ่านเมืองหลวงพระบาง ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทางความยาว 417 ก.ม. มีสถานีจำนวน 31 แห่ง สองข้างทางที่ผ่านกว่า 80 % เป็นพื้นที่ภูเขาและที่ราบสูง ข้ามแม่น้ำโขง 2 จุด มีสะพานจำนวน 167 แห่ง ที่มีความยาวรวมกัน 61.8 ก.ม. มีอุโมงค์ลอดภูเขาจำนวน 75 แห่ง มีความยาวรวมกันประมาณ 200 ก.ม. ตลอดเส้นทาง 62 % เป็นความยาวรวมของสะพานและอุโมงค์รวมกัน
เส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้ จะใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า กรณีขนส่งผู้โดยสารรถไฟขบวนดังกล่าวในบริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขาและที่ราบสูงจะใช้ความเร็วอยู่ 160 ก.ม./ช.ม. ในกรณีที่เป็นพื้นที่ราบจะใช้ความเร็ว 200 ก.ม./ช.ม. ในกรณีใช้ในการขนส่งสินค้า จะใช้ความเร็ว 120 ก.ม./ช.ม. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จตามโครงการจะกลายเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยาวที่สุดของประเทศ ลาว โดยโครงการก่อสร้างจะใช้เวลา 5 ปี จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับทางรถไฟของเมืองบ่อหาน ประเทศจีนทางด้านทิศเหนือ และทางทิศใต้ก็จะเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟจังหวัดหนองคาย- กรุงเทพฯ ของประเทศไทย
กงศุลจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวต่อไปว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวนั้น ใช้เงินลงทุน 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทางประเทศจีน ออกทุน 70 % สปป.ลาว 30% ทั้งนี้ในส่วนของ สปป.ลาวจะถือสิทธิในโครงการโดยรัฐบาลลาว และ องค์การการรถไฟแห่งชาติลาว ส่วนทางประเทศจีน บริษัทบ่อหานการรถไฟ ถือหุ้น 40 % บริษัทลงทุนจีน 20% ธนาคารส่งออกและนำเข้า จะเป็นแหล่งเงินทุนปล่อยให้รัฐบาลลาวกู้ในระยะยาว 30 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทั้งนี้รัฐบาลลาวได้ตกลงว่าจะจ่ายเงินคืนให้แก่แหล่งเงินกู้ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนเป็นทรัพยากรธรรมชาติของลาว เช่น เหมืองแร่โปแตซ ส่วนประโยชน์ของโครงการต่อประเทศ สปป.ลาว คือ การสร้างงานให้กับคนลาวกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง และบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลักของจีน จะต้องว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาย่อยที่เป็นของลาวอีก 20 แห่ง
"ทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนารวมไปถึงการขนส่งคน สินค้า การเดินทางทางบก การท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศเออีซี ตั้งแต่ประเทศสิงคโปร์ จนถึงประเทศจีนตอนใต้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ
นายบุนสี วงบัวสี กงสุลใหญ่ สปป.ลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นความร่วมมือของจีน-ลาว ที่สำคัญมาก ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับลาวในด้านการเปิดโอกาสจากประเทศแลนด์ล็อค ให้เป็นประเทศ แลนด์ลิงค์ ตามนโยบายการเปิดประเทศของลาว เพราะมีชายแดนที่ติดต่อกับทุกด้าน เช่น ประเทศไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนามและประเทศจีน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560