Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีน ส่งผลกระทบที่จำกัดต่อตลาดการเงินของจีน
การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีน.....คาดส่งผลกระทบที่จำกัดต่อตลาดการเงินของจีน รวมถึงเศรษฐกิจในภูมิภาค
Moody’s Investors Service ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (sovereign credit rating) ของจีนวานนี้ (24 พ.ค. 2560) จากระดับ Aa3 เป็น A1 และปรับแนวโน้มเป็น stable จาก negative โดยระบุว่าระบบการเงินของจีนมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากหนี้ภาครัฐ ภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางแนวโน้มที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงระยะยาว ทั้งนี้ Moody’s คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของจีน ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 256
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเบื้องต้นว่า ผลกระทบเฉพาะหน้าของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ ต่อตลาดการเงิน ค่าเงินหยวนและเสถียรภาพด้านต่างประเทศของจีนค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในส่วนของ Fund Flow เนื่องจากอันดับ A1 ยังถือเป็น investment grade อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติไม่มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในตลาดการเงินภายในประเทศของจีน โดยสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติต่อมูลค่าพันธบัตรทั้งหมดคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.8 (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2560) ขณะที่ ทางการจีนเองก็ยังคงเข้มงวดกับการโอนเงินออกนอกประเทศของบุคคลและธุรกิจสัญชาติจีน ซึ่งเป็นมาตรการที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ดังสะท้อนจากค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวเพียงเล็กน้อยราวร้อยละ 0.07 วานนี้
นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตัวดีขึ้น แรงกดดันที่ลดลงจากเงินทุนไหลออกที่ชะลอลง รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่มีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คงช่วยให้ทางการจีนสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงค่าเงิน ที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ แม้การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ แทบไม่กระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศของจีน เนื่องจากแหล่งเงินทุนหลักของภาคธุรกิจจีนมาจากเงินออมภายในประเทศและผ่านระบบธนาคารเป็นหลัก อีกทั้งธนาคารกลางจีนยังคงท่าทีผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง ทว่า ก็คงกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจบางส่วนที่มีการกู้เงินผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยตราสารหนี้ที่ออกใหม่จะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ลดลงสอดคล้องกับความน่าเชื่อถือของประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจจีนต่อไป ทั้งนี้ จากการประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การกู้เงินผ่านตลาดตราสารหนี้คิดเป็นราวร้อยละ 16 ของหนี้ภาคธุรกิจทั้งหมด และหากไม่รวมรัฐวิสาหกิจ การกู้เงินผ่านตลาดตราสารหนี้ของวิสาหกิจเอกชนคิดเป็นร้อยละ 29 ของหนี้วิสาหกิจเอกชนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวของ Moody’s สะท้อนความกังวลต่อเสถียรภาพเชิงระบบการเงินของจีน อันเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพและบิดเบือนด้วยนโยบายรัฐ ซึ่งนำไปสู่การก่อหนี้ของภาคธุรกิจ (corporate debt) ในอุตสาหกรรมหนักดั้งเดิมที่มีผลิตภาพต่ำ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ถ่านหินและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้เป็นวงกว้าง อีกทั้งหากปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ถ่วงเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การรักษาสมดุลระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นถือเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญของทางการจีนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจจริงที่เริ่มมีเสถียรภาพในช่วงต้นปี 2560 คงมีส่วนทำให้รัฐบาลจีนหันมาจริงจังกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมทยอยออกมานับจากนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจน่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันระบบเศรษฐกิจจีนต่อไปในระยะปานกลาง แม้ว่าความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพต่อระบบสถาบันการเงินจะมีไม่มากนักก็ตาม เนื่องจากราวร้อยละ 60 ของหนี้ภาคธุรกิจ เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจ (คิดเป็นร้อยละ 71 ของ GDP) ซึ่งหลักๆ กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่รัฐเป็นเจ้าของ อีกทั้งทางการยังมีทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอในการบริหารจัดการ จากเงินออมภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและความสามารถในการก่อหนี้ของรัฐบาลที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลกลางเท่ากับร้อยละ 15 ของ GDP)
สำหรับผลกระทบต่อไทยน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ ทั้งในส่วนของความเชื่อมโยงของตลาดเงินตลาดทุนภายในภูมิภาค เนื่องจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนครั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศของจีนเองเป็นหลัก และไม่ได้นำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ สำหรับผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยว ก็น่าจะอยู่ในระดับที่จำกัดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกของไทยไปยังจีนในปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 5.5-8.5 (ค่ากลางที่ร้อยละ 7.0)
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย