ระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม 2560 กระทรวงพลังงานนำโดย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ร่วมศึกษาดูงานด้านพลังงาน ณ ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ เพื่อนำองค์ความรู้และแบบอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาพลังงานของไทยโดยเฉพาะพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ
ประเดิมวันแรกด้วยการศึกษาดูงาน ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท Ramboll ที่เดนมาร์ก เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน
Mr.OREN HOLM JOHANSEN Executive Director Ramboll Group อธิบายว่า Ramboll เป็นบริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบ และผู้ให้คำปรึกษาโดยเฉพาะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานขยะ พลังงานความร้อนและพลังงานชุมชน โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญกว่า 13,000 คน มีสำนักงานกระจายอยู่ 300 แห่งใน 35 ประเทศ มีประสบการณ์ด้านพลังงานงานมากกว่า 45 ปี ออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มาแล้วกว่า 90 แห่ง และเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นชีวมวล
ขณะที่ Mr.SOREN JUEL PETERSEN Global Market Director,Wind&Towers กล่าวว่า ปัจจุบันจีดีพีในเดนมาร์กสูงขึ้น ระบบการผลิตก็มากขึ้น การเกิดมลพิษจะต้องมากขึ้นแต่เดนมาร์กยังสามารถควบคุมได้สังเกตได้ว่ามลพิษไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วยโดยรัฐบาลเดนมาร์กพยายามส่งเสริมการใช้พลังงานไบโอแมส โดยไม่เสียภาษีทำให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานชีวมวลมากขึ้น
ปัจจุบันเดนมาร์ก มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 45% และพลังงานถ่านหิน 40% สัดส่วนที่เหลือผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ไบโอแก็ส ไบโอแมส จากนโยบายรัฐไปสู่การปฏิบัติผ่าน Ramboll โดยให้ข้อมูลตรงไปตรงมาแก่รัฐบาลทำให้รัฐสามารถควบคุมการใช้พลังงานไม่ให้เติบโตขึ้นได้ แม้ว่าจีดีพีจะโตก็ตาม โดยกำหนดเก็บภาษีน้ำมันไว้ในเพดานที่สูงและให้ประชาชนหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
-ยึดโมเดล Samso
ส่วนการศึกษาดูงานที่Samso Energy Academy จากประวัติเพิ่งเปิดทำการเมื่อปี 2550 เป็นศูนย์เรียนรู้และให้คำปรึกษาด้านพลังงาน ที่เกาะ Samso ถือเป็นศูนย์เรียนรู้ที่น่าสนใจ และที่ไฮไลต์คือ มีกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเกาะดังกล่าว ซึ่งมีประชากรราว 3,700 คน มีเป้าหมายร่วมกัน ให้เป็นเกาะที่ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็น 0%ให้ได้ภายในปี 2573 โดยถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานที่ยั้งยืน จากที่ขณะนี้ยังมีบางส่วนที่ยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอยู่ เช่น การใช้เรือเฟอร์รี่ข้ามไปยังเกาะ
ทั้งนี้ Samso Energy Academy เริ่มแนวคิดผลิตพลังงานเองในเกาะSamso โดยยกตัวอย่างความสำเร็จด้านพลังงาน จากโรงงานผลิตพลังงานความร้อนจากฟาง หรือผลิตระบบความร้อนจากชีวมวล ประจำท้องถิ่น ณ Ballen และ Vrundby ที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชน 296 ครัวเรือน ในรูปสหกรณ์ลงทุนร่วมกัน ความร้อนที่ได้ แจกจ่ายไปตามบ้านที่เป็นสมาชิก ที่มีการเชื่อมต่อกับโรงงานทำให้ได้ทั้งน้ำร้อนและความร้อนในการทำฮิตเตอร์ ที่ไม่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้า ในขณะที่ชาวนามีรายได้จากการส่งฟางมาขาย โดยฟาง1ก้อนมีขนาด600กิโลกรัม ภายใน1 ปีจะต้องใช้ฟางประมาณ 50 ตันถึงจะเพียงพอในการป้อนความร้อนให้ชุมชนใช้
นอกจากนี้ชาวบ้านบางรายที่เป็นวิศวกรหรือช่างจะมีงานทำ ติดตั้งระบบ รวมถึงการดูแลรักษาระบบท่อและระบบน้ำร้อนทั้งระบบด้วย แม้ว่าราคาจะถูกแบบที่ชาวบ้านต้องจ่าย เพราะมีค่าดอกเบี้ยแฝงอยู่ เนื่องจากรัฐบาลเป็นคนค้ำประกันให้โดยไม่มีดอกเบี้ยในการลงทุน ดังนั้นจึงต้องมีการหักเงินส่วนหนึ่งมาผ่อนชำระกับค่าการลงทุนในการก่อสร้างโรงงาน ตัวอย่างดังกล่าวนอกจากประหยัดพลังงานแล้วยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างงานในชุมชนในพื้นที่ได้ด้วย
-ผลิตไฟฟ้าเหลือขาย
ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ที่เกาะSamsoประกอบด้วยกังหันลมบนบก จำนวน 10 ตัว มีกำลังผลิตตัวละ1 เมกกะวัตต์ ในจำนวนนี้มี 5 ตัวเป็นของเทศบาล 3 ตัวของเอกชนและ 2 ตัวเป็นของสหกรณ์ซึ่งมี 450 หุ้นส่วนที่มาจากคนท้องถิ่น โดยมูลค่าเงินลงทุนที่ใช้ในช่วง 10 ปีแรกของการพัฒนาคือ 55 ล้านยูโร โดย8ล้านยูโรเป็นเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และอีก 47 ล้านยูโรมาจากชุมชน องค์กร บริษัทต่างๆลงขันร่วมกัน
อีกส่วนหนึ่งเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในน้ำจำนวน 11 ตัว ขนาดกำลังผลิตตัวละ2.3 เมกกะวัตต์ โดยกังหันลม1ตัว มีมูลค่าลงทุนกว่า 40 ล้านบาทต่อตัว มีความแรงลมอยู่ที่ 7.6 เมตรต่อวินาที ใช้เวลาในการคืนทุน 6-7 ปี ในส่วนนี้สามารถส่งกลับไปยังเดนมาร์ก เพื่อขายได้อีก
สำหรับการเยี่ยมชมพลังงานทดแทนในรูปของโซลาร์เซลล์และรถยนต์ไฟฟ้าที่เทศบาลSamso เป็นเจ้าของนั้น จะพบว่าแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 120 กิโลวัตต์ใช้ชาร์ตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีและสำหรับการใช้ไฟฟ้าส่องสว่างภายในสำนักงานที่มีพนักงานกว่า 300 คนในเทศบาล Samso
ทั้งนี้รถยนต์อีวี จะวิ่งได้ในระยะทางราว80กิโลเมตรสำหรับในฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนจะวิ่งได้120-150 กิโลเมตรโดยใช้เวลาชาร์ตไฟเต็ม100% ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง โดยราคารถอีวีอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อคัน มีราคาเชื้อเพลิงถูกกว่า 8 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันต่อวัน
จะเห็นว่าการพัฒนาพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นในรูปของกังหันลม ชีวมวล ขยะ โซลาร์เซลล์และรถยนต์ไฟฟ้า ของพลเมืองบนเกาะSamso ที่ประสบผลสำเร็จได้นั้น ล้วนเกิดจากความร่วมมือของชุมชน เทศบาล ภาครัฐ และSamso Energy Academy โดยได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายโดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก และมีงานทำในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นภายในเกาะดังกล่าว
++เล็งศึกษา 2 รูปแบบ
ด้านพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวอย่างที่ดีของเดนมาร์กคือทำจากเล็กไปหาใหญ่ เราเองถ้าหาพื้นที่ชุมชนเล็กๆ ได้ก่อน ทำได้ 100% ให้คนเห็นตัวอย่างความสำเร็จก่อน ดังนั้นการยึดโมเดลแบบเกาะ Samso การดำเนินงานของเราน่าจะออกมาได้ 2 รูปแบบที่จะต้องไปศึกษาคือ 1.ใช้พื้นที่ใหม่ และ 2.ใช้พื้นที่เดิม คือที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการพัฒนาเป็นเกาะต้นแบบพลังงาน โดยสามารถทำทั้ง2พื้นที่ไปพร้อมๆ กันได้ โดยพื้นที่ใหม่สามารถวางผังการใช้ไฟให้หลากหลายได้ และการศึกษาพื้นที่ใหม่ควรเป็นโซนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น ที่ภาคเหนือจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือมีแนวโน้มใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น ที่เกาะภูเก็ตที่อนาคตการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ที่เกาะสมุย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้การใช้ไฟฟ้ากับปริมาณการผลิตอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาก
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560