สสวท. จัดทำโครงการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมระดับโรงเรียน เปิดโอกาสโรงเรียนทั่วประเทศส่งผลงาน พร้อมนำเสนอวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก สสวท. จึงได้กระตุ้นให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริง โดยการสืบเสาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ซึ่งแต่ละปีจะมีผลงานวิจัยของเยาวชนไทยในโครงการ GLOBE จากทุกภูมิภาค ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดย สสวท. มุ่งหวังให้เยาวชนมีความรักในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในชุมชน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ และร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา
“สสวท. จัดให้มีการประกวดผลงานวิจัยฯ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว ผลงานของนักเรียนที่ผ่านมา จะเป็นไปตามแนวทางสะเต็มศึกษาที่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) กระบวนการวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาบูรณาการ จะได้งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลายมากขึ้น ซึ่งผลงานวิจัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบของโลก (ดิน น้ำ บรรยากาศ และสิ่งปกคลุมดิน/สิ่งมีชีวิต) มีความเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ศึกษาถึงปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นระบบ ผลงานนักเรียนแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ ความคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และเป็นมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยการทำงานวิจัยจะได้รับความร่วมมือจากครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน จึงเชื่อได้ว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือกันสร้างความยั่งยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก”
ทั้งนี้ สสวท. ได้จัดการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระดับโรงเรียน ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมวินเซอร์สวีท สุขุมวิท 20 กรุงเทพ ฯ ตัวอย่างผลงานวิจัยระดับโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวด เช่น การศึกษาชนิดของดินที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นผักบุ้งทะเล การศึกษาพันธุ์ข้าวทนแล้งจากการเปลี่ยนสีของใบข้าวกับอุณหภูมิของดิน การศึกษาการสูญเสียความชื้นของดินนาในจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจัยสิ่งแวดล้อมบางประการที่มีผลต่อความหนาแน่นของหิ่งห้อย ณ บ้านพร้าว ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา การศึกษาปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางเคมีของน้ำที่มีผลต่อการแพร่กระจายของแมงกระพรุนน้ำจืด กรณีศึกษาแก่งกะเกาอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น