วันที่ 3 ก.ค. 60 — พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่การเร่งบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบกระชั้นชิดแต่ได้ดำเนินการตั้งแต่ ปี 2557
ขณะนี้ ที่ประชุมรับทราบปัญหาและจะชะลอการบังคับใช้กฎหมายบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่หลังจากการแก้ไขการขาดแคลนแรงงานแล้วเสร็จ ก็จะต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายต่อไป จนปราศจากแรงงานผิดกฎหมายในที่สุด นอกจากนี้ การบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องดำเนินการ เพื่อคุ้มครองและป้องกันแรงงานต่างด้าวถูกเอาเปรียบ และสร้างระเบียบวงจรการจ้างงานแรงงานต่างด้าว โดยยืนยัน พ.ร.ก. นี้ ยังคงหลักการของกฎหมายเดิม แต่มีการปรับโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น
ด้าน นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วาณิช ผู้ตรวจการกระทรวงแรงงาน แถลงภายหลังการประชุมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. เป็นต้นมา มีแรงงานต่างด้าวทยอยออกนอกประเทศแล้ว 29,000 คน และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาใหม่ 60,000 คน ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้แจ้งเปลี่ยนนายจ้าง ให้เร่งดำเนินการผ่านกรมการจัดหางานจังหวัด โดยเสียค่าธรรมเนียมตามปกติ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งหมดให้รอความชัดเจนจากคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งยืนยันว่า หลักการเบื้องต้นเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยกำหนดให้มีการชะลอการบังคับใช้ มาตรา 102, 103, 119 และ 122 เกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษออกไป 120 วัน ดังนั้น จึงขอให้นายจ้าง-แรงงานต่างด้าวอย่าตื่นตระหนัก เพราะจะทำให้เสียโอกาสทั้ง 2 ฝ่าย
นอกจากนี้ ความคืบหน้าระหว่างไทย-เมียนมา ในการยืนยันสัญชาติ ล่าสุด เมียนมารับหลักการแล้ว โดยกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละ 5 คน เบื้องต้น เมียนมาตกลงเงื่อนไขการนำเข้าแรงงาน จากเดิมที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น ปรับเป็นบุคคลธรรมดาสามารถขอนำเข้าแรงงานได้ ยกเว้น แรงงานกลุ่มแม่บ้านและสถานบริการ ขณะที่การยืนยันสัญชาติ ทางการเมียนมาจะยืนยันให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีบัตรสีชมพู