แนะรัฐดึง 2 แสนแรงงานไทย สวมแทนต่างด้าว

15 ก.ค. 2560 | 01:00 น.
ทันทีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เกิดผลกระทบกับแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานของนายจ้างไทย เนื่องจากเพิ่มความเข้มข้นของบทลงโทษโดยเฉพาะใน 4 มาตรา คือ มาตรา 101,102, 119 และมาตรา 122 เช่น นายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างงาน 1 คน หรือกรณีคนต่างด้าวผู้ใดทํางานโดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-1 แสนบาท เป็นต้น เรียกว่าระสํ่ากันทั้งนายจ้างลูกจ้าง เพราะเวลานี้การไหลออกของแรงงานต่างด้าวยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ในขณะที่นายจ้างอยู่ในอาการนั่งไม่ติด เพราะหาแรงงานมาทดแทนไม่ทันโดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหาร กลุ่มเกษตรและประมง รวมถึงงานบ้าน

[caption id="attachment_177592" align="aligncenter" width="503"] ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)[/caption]

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ถึงบรรยากาศความเคลื่อนไหวของทุกภาคส่วนในขณะนี้

**มองรัฐแก้ปัญหา
นายชาลีกล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องตั้งแต่ปี 2521 เป็นพ.ร.ก.มาแล้ว มีการปรับปรุงแก้ไข เป็นพ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว ปี 2551 พอมาปี 2558 ก็มีการผ่อนผันแรงงานที่ได้รับบัตรสีชมพู ซึ่งเป็นบัตรที่แสดงว่าแรงงานได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศ ไทยได้เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมายในแง่ที่มีนายหน้า หรือมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง โดยไม่ได้อยู่กับนายจ้างคนเดิมก็ถือว่า ผิดกฎหมาย รัฐบาลจึงมีการผ่อนผันให้แรง งานเหล่านี้ให้ไปขึ้นทะเบียนบัตรสีชมพู โดยให้สิทธิ์ชั่วคราว และได้รับการผ่อนผันมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดภาครัฐถูกกดดันเพราะนายจ้างไม่พาแรงงานต่าง ด้าวมาขึ้นทะเบียน เพราะคิดว่าเดี๋ยวรัฐบาลก็มีการขยายเวลาให้อีกเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งบัตรสีชมพูล็อตนี้ จะหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งในส่วนนี้น่าจะมีแรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนราว 1 ล้านคนเศษ โดยรัฐบาลประกาศไว้ก่อนแล้ว จะเป็นการผ่อนผันครั้งสุดท้ายในเรื่องของบัตรสีชมพู อีกทั้งรัฐบาลถูกกดดันเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย

“หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาโดยวิธีเดิมๆอยู่ นายจ้างก็ไม่ทำตาม เนื่องจากบทลงโทษถูกปรับน้อยมากเพียงไม่กี่พันบาทต่อคน”

[caption id="attachment_177593" align="aligncenter" width="503"] แนะรัฐดึง2แสนแรงงานไทย สวมแทนต่างด้าว แนะรัฐดึง2แสนแรงงานไทย สวมแทนต่างด้าว[/caption]

นายชาลีกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญนับจากนี้ไปเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องจริงจังในเรื่องการบังคับปฏิบัติ ติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น และต่อเนื่องไม่ใช่พอมีเหตุอะไรที ก็มาแก้ปัญหากันเป็นคราวๆไป และถ้ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น จะลงโทษเฉพาะนายหน้าฝ่ายเดียวไม่ได้ จะต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐ มีนายจ้างเกี่ยวข้องด้วย ตรงนี้สำคัญเพราะถ้าไม่สามารถขจัดจุดอ่อนตรงนี้ไปได้ ปัญหาแบบนี้ก็จะวกกลับมาอีก

**ต่างด้าวไหลออกต่อเนื่อง
สำหรับปฏิกิริยาของแรงงานต่างด้าวนับตั้งแต่ที่มีการประกาศพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกมา จนมีการขยายกรอบเวลาบังคับใช้พ.ร.ก. ดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือนหรือ 180 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560- 1 มกราคม 2561 แต่ก็ยังมีแรงงานต่างด้าวไหลออกไปประเทศตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวติดคุก ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป ร้านขายอาหาร ประมง และภาคเกษตร

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัว 180 วัน ที่รัฐบาลขยายเวลา ไม่น่าจะเพียงพอ ยกเว้นว่า จะได้รับความร่วมมือจากต้นทางคือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา ที่จะต้องเดินเอกสารด้านพาสปอร์ต วีซ่า ซึ่งต้นทาง จะทำช้ามากในเรื่องการออกเอกสาร เพราะระบบยังล้าสมัยกว่าประเทศไทยมาก ต่อวันทำได้ไม่กี่คน

**กระทบความมั่นคงแรงงาน
สำหรับนายจ้าง นับจากนี้ไป นายจ้างที่ไม่อยากให้เกิดปัญหาตามมา ก็ไม่ควรปกปิดข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันยังมีนายจ้างที่แอบแฝงโดยมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทำงานอยู่ แต่ไม่ต้องการแบกต้นทุน จึงหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการให้แรงงานต่างด้าว ไม่มีระบบประกันสังคม เช่น ค่ารถ ค่าเช่าบ้าน เพราะถ้าแรงงานที่เข้ามาถูกต้องจะต้องได้รับสิทธิ์เท่าแรงงานไทย คือได้สวัสดิการทุกอย่าง และมีระบบประกันสังคม มีระบบประกันหมู่ ได้ค่าแรงเท่ากับแรงงานไทย

อย่างไรก็ตามปัญหาแรงงานต่างด้าวไหลกลับประเทศตัวเอง จะกลายเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านการใช้แรงงาน ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวเศรษฐกิจไทยอาจจะทรุดลงได้ ถ้าแรงงานต่างด้าวออกไปจำนวนมากจะไปหาแรงงานที่ไหน เนื่องจากเวลานี้แรงงานในระบบไม่เพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องไปดูคือ สถิติการตกงานของคนไทยที่เวลานี้มีประมาณ 1.4-1.5% หรือกว่า 2.5 แสนคน จากแรงงานไทยที่มีอยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 17 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีนายจ้างอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม มีลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ส่วนแรงงานนอกระบบประกันสังคม ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ามี 21.3 ล้านคน มาจากกลุ่มแท็กซี่ สามล้อ หาบเร่ แผงลอย หรือกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐจะต้องไปสำรวจว่าแรงงานไทย 2 แสนคนไปอยู่ที่ไหนเพื่อมาแก้ปัญหาแรงงานขาดในขณะนี้

**แนะทางออก
นอกจากนี้ทางออกที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในช่วงที่แรงงานขาดอีกส่วนหนึ่งคือ ภาครัฐจะต้องไปหารือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เจรจาให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยเร่งออกเอกสารให้เร็วขึ้น เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลับมาทำงานในไทยได้ตามเดิม เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านเติบโตได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทย มีรายได้ส่งกลับบ้าน นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องไปตั้งหน่วยลงทะเบียนผ่านต.ม. และหน่วยตรวจสุขภาพ กระจายตามรอยตะเข็บชายแดนหลายจุด ซึ่งนายจ้างจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่รัฐบาลจะได้ทำแผนรองรับคนต่างด้าวเข้ามา ได้ถูกต้อง ขณะที่นายจ้าง ไปรับแรงงานต่างด้าวได้ที่จุดผ่านแดนโดยที่ไม่ผ่านนายหน้า ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเกิดปัญหาเดิมคือ นายหน้ากินหัวคิวและเกิดปัญหาค้ามนุษย์เกิดขึ้นอีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560