สสวท.เร่งดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

19 ก.ค. 2560 | 07:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2560 | 14:03 น.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนและยกระดับผลงานวิจัยของ บัณฑิต พสวท. สู่สาธารณชน ให้เป็นที่รู้จัก และถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง รวมทั้งให้งานวิจัยเหล่านี้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สสวท. จึงได้จัดงาน“พสวท. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ 2

prajin1

พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า งานนี้นับเป็นการรวมตัวของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยกันระดมความคิดนำความรู้ที่เคยได้ศึกษาวิจัย นำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์อะไรบ้าง สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไปแล้วสามารถนำไปต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง เชื่อมโยงความสอดคล้องนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมให้มีการสร้างผลงานวิจัย ที่มีภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเข้ามาร่วมมือกันพัฒนา โดยทุน พสวท. เน้นที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพให้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบัณฑิตที่อยู่ในหน่วยงานวิจัยต่างๆ ล้วนถูกพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมวิจัยของตนเอง จนเป็นสินค้าที่มีมูลค่าได้สำเร็จ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะผลักดันนักวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้นำผลงานนั้นๆมาขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงภาคพาณิชย์ในภาควิชาการอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องความต้องการทางด้านการตลาดในอนาคต

ด้านดร.พรพรรณ ไวทยางกูร เป็นผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 33 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักนวัตกรรมในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อเป็นฐานกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้ทุน พสวท. แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาเอกในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ การดำเนินงานตลอดเวลาที่ผ่านมา

ทุนพสวท.ที่ผ่านมามีบัณฑิต พสวท. ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ รวม 1,467 คน และได้กลับมาทำงานในหน่วยงานต่างๆ ได้สร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีประโยชน์ในการพัฒนา รวมถึงการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม ได้รับรางวัลมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 2 คน นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จำนวน 22 คน นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นรุ่นเยาวระดับนานาชาติ จำนวน 2 คน นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จำนวน 2 คน นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น จำนวน 1 คน รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จำนวน 6 คน รางวัลเว็บไซด์ด้านส่งเสริมการศึกษาดีเด่น 2 ปี ซ้อน จำนวน 3 คน รางวัลเมทีส่งเสริมนวัตกรรม จำนวน 1 คน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 8 กพ 2554 จึงมีมติให้ สสวท. ทำหน้าที่พัฒนาและสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยมืออาชีพ โดยได้จัดสรรทุนการวิจัยปีละ 30 ทุน เพื่อให้บัณฑิต พสวท. ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ได้มีการวิจัยทันทีหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งเชื่อว่าช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี