"อุบลศักดิ์"ห่วง 3 โครงการวงเงินกว่า 2 พันล้าน เพิ่มผลผลิตวัวเนื้อเปิดช่องทุจริต หลังเสียงหนาหูโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพระยะที่ 1-2 มีวัวเวียนเทียน-วัวสวมสิทธิจากเพื่อนบ้านเข้าร่วมโครงการ เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขู่ข้าราชการทุจริตเชิงนโยบายฟันไม่เลี้ยง
จำนวนโคเนื้อของไทยได้ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 8 ล้านตัว เหลือเพียง 4.8 ล้านตัวในปัจจุบัน ผลจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตโคเนื้อไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงเป็นที่มาของกรมปศุสัตว์ได้ขอการสนับสนุนกู้เงินปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรดำเนินโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 1 วงเงิน 100 ล้านบาทและโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพระยะที่ 2 วงเงิน 900 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 6 มิถุนายน 2560ได้อนุมัติโครงการ "โคบาลบูรพา" จ.สระแก้ว วงเงิน 1,028.40 ล้านบาท รวม 3 โครงการกว่า 2,000 ล้านบาท
[caption id="attachment_145021" align="aligncenter" width="250"]
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม[/caption]
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และกรรมการในคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพระยะที่ 1 ได้นำร่องไปแล้วได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกร และมีเสียงโจทย์ขานในพื้นที่ว่ามีปัญหาโคเวียนเทียนโดยเกษตรกรซื้อโคตัวเอง โดยฝากคนอื่นขาย แล้วนำมาร่วมโครงการ บางรายมีการนำโคจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา มาเข้าร่วมโครงการ เพราะมีราคาถูกตกตัวละ 1-2 หมื่นบาทเท่านั้นซึ่งขอร้องเรียนนี้มีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) นอกจากนี้ได้รับร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์รวบรัดตัดสินใจให้เกษตรกรดำเนินการในหลายเรื่อง โดยที่เกษตรกรไม่สามารถดำเนินการได้เอง เสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย
[caption id="attachment_184605" align="aligncenter" width="469"]
ลุยสอบวัวสวมสิทธิ-เวียนเทียน 3โปรเจ็กต์โคเนื้อส่อทุจริต-ขู่เอาผิดไม่หมดอายุความ[/caption]
ขณะที่โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพระยะที่ 2 (ดูกราฟิกประกอบ) ที่ได้ปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นโคเนื้อเพศเมียพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ลูกผสมพื้นเมืองบราห์มันหรือพันธุ์อื่นที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริม มีอายุ 2-4 ปี นํ้าหนักไม่ตํ่ากว่า 280 กิโลกรัม โดยจะพิจารณาแม่โคสาวตั้งท้อง 3-5 เดือนได้รับการสนับสนุนค่าแม่โคเนื้อรายละไม่เกิน 5 ตัว ราคาตัวละไม่เกิน 4 หมื่นบาท ในสัญญาให้เกษตรกรเป็นคนเจรจาสัญญากันเองระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย แล้วให้เจ้าหน้าที่เป็นคนตรวจคุณสมบัติของโคว่าท้องจริงหรือไม่
"ในโครงการที่ 2 นี้ ตั้งข้อสังเกตว่าจะเอาแม่วัวท้องมาจากไหนถึง 1.8 หมื่นตัว ซึ่งทั้ง 2 โครงการที่ยังมีข้อกังขาในหลายเรื่องทางกองทุนฯจะให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ส่งข้อมูลรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการในแต่ละพื้นที่ว่ามีใครบ้าง มีวัวกี่ตัว รหัสอะไรบ้าง ซึ่งวัวทุกตัวต้องมีทะเบียนประวัติชัดเจน เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสว่าเกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่ ดำเนินการถูกต้องไม่ มีวัวเวียนเทียนหรือวัวสวมสิทธิจริงหรือเปล่า ซึ่งทางกองทุนจะร่วมกับประธานกลุ่มเกษตรกรในแต่ละตำบลทั่วประเทศลงตรวจสอบข้อเท็จจริงๆ พร้อม ๆ กันทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ หากพบมีเจ้าหน้าที่ทุจริตเชิงนโยบายเพื่อหาผลประโยชน์ รวมถึงเกษตรกรร่วมทุจริตจะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอาญา คดีทุจริตคอรัปชั่นไม่มีอายุความ แม้เกษียณไปแล้วก็ยังเอาผิดได้"
ขณะที่โครงการโคบาลบูรพา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่คณะรัฐมนตรี(6 มิ.ย.60)ได้มีมติเห็นชอบแล้ว วงเงินรวม 1,028 ล้านบาท (มีเป้าหมายจัดตั้งธนาคารโคเนื้อ(เพศเมีย)จำนวน 3 หมื่นตัว และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ(เพศเมีย)จำนวน 1.2 แสนตัว แพะ 2.72 หมื่นตัว กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการได้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง 6,106 ราย และเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยึดคืนใน จ.สระแก้ว 271 ราย)ถือเป็นอีก 1 โครงการใหญ่ที่ทางกองทุนฯสนับสนุนค่าใช้จ่ายอุปกรณ์โรงเรือนนั้นยังมีความเป็นห่วงเรื่องหนี้จะสูญ เพราะเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ยึดคืน และอยู่ระหว่างการจดทะเบียนรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ ซึ่งจะได้ติดตามตรวจสอบต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560