ลุยจัดระเบียบ 2.4 พันฟาร์มไก่ไข่ ดันสู่มาตรฐานอาเซียน-รายย่อยร้องแบงก์เมินปล่อยกู้

19 ส.ค. 2560 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2560 | 09:31 น.
ไก่ไข่รายย่อยผวาสอบตกมาตรฐานฟาร์มบังคับ คาดดีเดย์ใช้ปี 61 โอดปรับปรุงฟาร์มต้องลงทุนเพิ่ม ขณะแบงก์เมินปล่อยกู้ร้องรัฐช่วยมกอช.ระบุเพื่อยกระดับ 2,400 ฟาร์มทั่วประเทศ สร้างมาตรฐานไข่ไก่อาเซียนตีตลาดโลก ด้านส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยฉลุย 6 เดือนกว่าแสนล้าน

คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด ได้เห็นชอบกำหนดมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยง รวมทั้งลดความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ และเพื่อควบคุมปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากฟาร์มที่ยังไม่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มกอช.ได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (มาตรฐานบังคับ) และร่างแนวปฏิบัติตามมาตรฐานอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ โดยได้จัดเป็นเวที 4 ภาค จัดมา 2 ครั้งแล้ว ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2560 ที่เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2560 ที่ขอนแก่น ส่วนครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2560 ณ จังหวัดสงขลา และครั้งสุดท้ายในวันที่ 28-29 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรม อมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ

“จากที่ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นมา 2 ภาคแล้ว มีผลสรุปจากที่ประชุมสำหรับการจัดมาตรฐานฟาร์มไข่ไก่ แบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ ฟาร์มขนาดเล็ก มีจำนวนแม่ไก่ไข่น้อยกว่า 1 หมื่นตัว ไม่ต้องขอใบอนุญาต เพราะจะมีเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องปฎิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ไปตรวจสอบเป็นระยะ ซึ่งฟาร์มไก่ไข่ขนาดเล็ก ณ ปัจจุบันมีประมาณ 1,500 ฟาร์ม”

ส่วนฟาร์มขนาดกลาง มีจำนวนแม่ไก่ไข่ 1หมื่นตัวจนถึง 1 แสนตัว มีจำนวน 781 ฟาร์ม ผ่อนปรนให้มีระยะเวลาปรับเปลี่ยน 3 ปี ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 1 แสนตัวขึ้นไป จะมีระยะเวลาผ่อนปรนให้ปรับเปลี่ยนให้ 1 ปี ซึ่งฟาร์มขนาดใหญ่มีจำนวน 126 ฟาร์ม รวมทั้ง 3 ขนาดมีทั้งสิ้น 2,400 ฟาร์ม(ดูกราฟิกประกอบ) คิดเป็นปริมาณไก่ไข่กว่า 60 ล้านตัว/รุ่นการผลิต ปริมาณกว่า 30 ล้านฟองต่อวัน

tp8-3288-a นายพิศาล กล่าวอีกว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำมาปรับปรุงร่างมาตรฐานให้มีความสมบูรณ์แล้วจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน แล้วจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป คาดประมาณปี 2561 มาตรฐานบังคับสำหรับฟาร์มไก่ไข่ จะสามารถประกาศใช้ได้ และจะส่งผลดีต่อการส่งออกไข่ไก่ของไทยในอนาคต

ขณะที่นายชัยพร สีถัน ผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ไข่ บริษัท ชัยพรสหฟาร์ม จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี ในฐานะประธานชมรมผู้เลี้ยงไข่ไก่ภาคกลาง เผยว่า ชมรมมีสมาชิกกว่า 1 หมื่นรายที่มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในช่วง 1 แสนตัว จำนวนมาก มองว่ามาตรฐานฟาร์มจะต้องใช้เงินลงทุน เรื่องนี้แนะให้รัฐบาลต้องจัดแพ็กเกจ
สินเชื่อให้เป็นพิเศษ เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่ปล่อยกู้ให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ อ้างความเสี่ยงสูง

ด้าน นสพ.สมชวน รัตน มังคลานนท์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เผยในงานประชุมใหญ่สามัญสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทยประจำปี 2560 (8 ส.ค.60) ว่า ลักษณะฟาร์มที่ได้ตามมาตรฐาน อาทิ องค์ประกอบฟาร์ม อาหารสำหรับสัตว์นํ้า สวัสดิภาพสัตว์ และการบันทึกข้อมูล เป็นต้น ส่วนสถานการณ์การส่งออกสินค้าไข่ไก่ ปี 2559 มีปริมาณ 1.27 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 770 ล้านบาท ส่วนการส่งออกช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ มีปริมาณ 5,162 ตัน มูลค่า 329 ล้านบาท ปัจจุบันทั่วประเทศมีฟาร์มที่ได้มาตรฐานไก่ไข่ กว่า 1,534 ฟาร์ม ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท คาดทั้งปีจะทะลุเกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560