โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดให้เอกชนเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 สัญญา มูลค่ารวม 16,066 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1(ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร มีเอกชนร่วมเสนอราคา 11 รายและมีการเสนอราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 8,198 ล้านบาท(จากราคากลาง 8,390 ล้านบาท) บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ชนะการประมูล และในส่วนสัญญาที่ 2 (ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร มีเอกชนร่วมเสนอราคา 11 ราย มีผู้เสนอราคาตํ่าสุด 7,520 ล้านบาท (จากราคากลาง 7,676ล้านบาท) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลซึ่งร.ฟ.ท. กำหนดเซ็นสัญญาในเดือนกันยายนนี้ก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างในปลายปี 2560 ไป
รถไฟทางคู่สายใต้ช่วงดังกล่าวนี้จัดได้ว่าเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรถไฟที่ช่วยในการยกระดับโลจิสติกส์ภาคใต้ของไทย ลักษณะโครงการเป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ ระยะทางรวมทั้งหมด 169 กิโลเมตร มีจำนวน 28 สถานี โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เขตทางกว้าง 60 เมตรเส้นทางวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมตลอดสายทาง
แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟนครปฐม ส่วนจุดสิ้นสุดอยู่ที่สถานีรถไฟหนองแก โดยเริ่มต้นที่ กม.47+700 (บริเวณสถานีนครปฐม) แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตกถึงชุมทางหนองปลาดุก จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายลงสู่ภาคใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สิ้นสุดที่ กม. 217+700 (เลยสถานีหัวหินไปประมาณ 4 กิโลเมตร) โดยบริเวณสถานีช่วง กม.211+582.900 ถึง กม.215+872.900 ระยะทาง 4.290 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งยกระดับ ระบบรางเป็นทางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge)
โดยพื้นที่ให้บริการจะผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ 1.นครปฐม (อ.เมืองนครปฐม) 2.ราชบุรี(อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมือง อ.ปากท่อ) 3.เพชรบุรี(อ.เขาย้อย อ.เมือง อ.ท่ายาง อ.ชะอำ) และ 4.ประจวบคีรีขันธ์(อ.หัวหิน) โดยตามผลการศึกษาด้านการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการด้านเศรษฐกิจ พบว่าโครงการมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจในการลงทุนมูลค่าปัจจุบัน 1.43 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.96% มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) 23.41%
ทั้งนี้ตามผลการศึกษาพบว่าหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุของทางมากกว่า 200 ขบวนต่อวันโดยไม่ต้องรอสับหลีก ลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าสั้นลง อีกทั้งประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ยังช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค-ท้องถิ่น ช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กำหนดความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าจากปีละ 24 ล้านตันเป็น 28 ล้านตัน ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน เชื่อมโยงการค้า การขนส่งจากภาคใต้สู่ภูมิภาคอื่นๆได้รวดเร็วขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น 24 ล้านคน/ปีในอีก 20 ปีข้างหน้า
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560