เร่งเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่เกี่ยวข้องไปแล้วสำหรับงานปฐมนิเทศโครงการงานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของโครงการ
โครงการดังกล่าวนี้จัดเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) โดยได้รับการบรรจุไว้ในแผนการดำเนินโครงการและงบประมาณในปีงบประมาณ 2560-2561
สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้จะเป็นการปรับปรุงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างท่าอากาศยาน ประกอบด้วย 1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิ้งค์) 2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง 3. โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อให้รถไฟฟ้า City Line ของแอร์พอร์ตลิงค์ที่ให้บริการในปัจจุบันและการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ สามารถรองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการมีทางเลือกเพิ่มขึ้นนั่นเอง
โดยแนวเส้นทางโครงการจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง
ในส่วนรูปแบบโครงสร้างของโครงการจะก่อสร้างเป็นทางรถไฟขนาดมาตรฐาน(1.435 เมตร) 2 ช่วง คือ พญาไท- ดอนเมือง และลาดกระบัง -ระยอง พร้อมสร้างทางรถไฟเชื่อมเข้าออกสนามบิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟยกระดับ มีส่วนที่เป็นอุโมงค์ทางคู่ ช่วงถนนพระราม 6-สามเสน สถานีสุวรรณภูมิ และเขาชีจรรย์ รวมระยะทางประมาณ 260 กม. โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่คลองตันเพื่อรองรับรถไฟฟ้า City Line ซึ่งเป็นจุดที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน
ทั้งนี้ในส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่ที่มีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงโดยมีศูนย์กลางควบคุมการเดินรถ(OCC) ของโครงการตั้งอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงทั้ง 2 แห่ง อีกทั้งตลอดแนวเส้นทางโครงการนั้นส่วนใหญ่พื้นที่จะอยู่ในเขตทางของร.ฟ.ท.ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้โครงการยังได้เตรียมเสนอมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานการก่อสร้างอีกด้วย ส่วนโครงการจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติดำเนินการได้เมื่อไหร่และก่อสร้างปีไหนนั้นยังต้องมีลุ้นกันในปี 2561 นี้ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนราว 3 แสนล้านบาท เรียกว่าเส้นทางนี้สามารถเชื่อมอีอีซีและ 3 สนามบินได้ครบความต้องการจริงๆ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560