สมาคมประมงเตรียมเปิดแอพพลิเคชันไลน์ซื้อขายเรือ หลังกรมประมงไฟเขียวควบรวมใบอนุญาต จูงใจแลกทำประมงได้ตลอดปีไม่ถูกหั่นโควตา จับตา 505 ลำเสี่ยง ควบรวมไม่ได้วืดต่อใบอนุญาตรอบใหม่ ขณะเพื่อนร่วมอาชีพได้ทีโก่งราคาขาย
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมาทางกรมประมงได้ส่ง หนังสือเรื่องแนวทางการควบ รวมใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งทางกรมประมงได้มีการประกาศรายชื่อเรือ พร้อมกับโควตาการจับปลาของเรือแต่ละลำ ขึ้นอยู่กับขนาดตันกรอสของเรือแต่ละลำที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้เรือประมง ณ วันที่ 1 กันยายน 2560 มีจำนวนเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงทั้งสิ้น 1.06 หมื่นลำ (ดูกราฟิกประกอบ) โดยกรมประมงแบ่งเรือพาณิชย์ (ยกเว้นเรือปั่นไฟ) เป็น 2 กลุ่ม รวม 8,655 ลำ ได้แก่
1. กลุ่มเรือที่มีขนาด
เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นไม่เกิน
10% มี 7,807 ลำ แบ่งเป็นจับสัตว์นํ้าหน้าดิน 5,540 ลำ ปลาผิวนํ้า 1,553 ลำ และปลากะตัก
จำนวน 714 ลำ
กลุ่มที่ 2. เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกิน 10% จากทะเบียนมีทั้งหมด 848 ลำ แบ่งเป็นสัตว์นํ้าหน้าดิน 562 ลำ ปลาผิวนํ้า 158 ลำ และปลากะตัก 128 ลำ กลุ่มนี้ในปี 2560 ถูกลดวันทำการประมง หากต้องการทำวันประมงสูงสุดคือสามารถทำประมงได้ตลอดปีแบบกลุ่มแรกจะต้องนำเรือไปควบรวมใบอนุญาต (การควบรวมใบอนุญาตเป็นการควบรวมปริมาณสัตว์นํ้าที่ได้รับอนุญาตให้ทำการ
ประมงที่ต้องทำในกลุ่มสัตว์นํ้าเดียวกัน โดยใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 1 ใบ สามารถกระจายปริมาณสัตว์นํ้าที่ได้รับอนุญาตให้กับใบอนุญาตเพื่อนำไปควบรวมได้หลายใบ)
ซึ่งเรือประมงที่ใบอนุญาตถูกนำไปควบรวมแล้วต้องนำไปทำลาย หรือบริจาคทำปะการังเทียมเท่านั้น อย่างไรก็ตามทางสมาคมจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยจะเปิดแอพพลิเคชันไลน์ สำหรับคนที่ต้องการจะซื้อขายเรือ ให้มาเจรจากันในราคาที่ยุติธรรม
“ในจำนวนเรือกลุ่ม 2 จะมีเรือกลุ่มเสี่ยงอยู่ 505 ลำ หากควบรวมใบอนุญาตไม่ได้ก็มีโอกาสที่ทางกรมประมงจะไม่ต่อใบอนุญาตให้จากปริมาณสัตว์นํ้าไม่เพียงพอ ทั้งนี้การจัดสรรปริมาณสัตว์นํ้า จะจัดสรรให้กับกลุ่มที่ 1 ที่ทำประมงได้ทั้งปีก่อน ที่เหลือค่อยมาจัดสรรให้กับกลุ่มที่ 2 ตามลำดับ ดังนั้นในกลุ่มนี้จะต้องพยายามควบรวมใบอนุญาตเมื่อควบรวมแล้วคาดว่าใบอนุญาตทำการประมงจะลดน้อยลง”
นายมงคล กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการควบรวมใบอนุญาตให้ชาวประมงยื่นคำขอที่สำนักงานประมง
อำเภอ/จังหวัด จะมีการตรวจสอบหลักฐาน โดยกรมได้มีการคำนวณปริมาณสัตว์นํ้าแต่ละลำเรือมาให้แล้ว หากใครสงสัยก็ให้มาดูที่สมาคม หลังจากคณะกรรมการพิจารณาควบรวมใบอนุญาตให้ความเห็นชอบแล้ว จะส่งเรื่องต่อให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้การอนุมัติหรือไม่ เมื่อแจ้งผลแล้วให้เจ้าของเรือดำเนินการยกเลิกทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าพร้อมหลักฐานการทำลายเรือ จากนั้นทางกรมประมงจะยกเลิกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ของเรือที่นำมาควบรวมและออกใบอนุญาตใหม่
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการประมง เผยว่า การซื้อขายเรือกลับมาคึกคักอีกระลอกหนึ่ง หลังจากที่กรมประมงอนุญาตให้มีการควบรวมราคาเรือก็ปรับเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ เพราะมีเรือประมงที่ไม่สามารถออกไปทำการประมงจากการขาดแคลนแรงงาน บางรายก็อยากขายทิ้งเพื่อไปทำอาชีพอื่น ซึ่งยอมรับว่าราคาซื้อขายเรือค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องสู้เพราะถ้าไม่เช่นนั้นกรมประมงจะไม่ออกใบอนุญาตให้ อ้างปริมาณสัตว์นํ้าไม่เพียงพอ ทั้งหมดเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดสรรปริมาณสัตว์นํ้าปีการประมง 2561-2562 ทั้งนี้ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ประจำปี 2559-2561 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2561
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560