เปิดชื่อ 25 ผู้ประกอบการ เบี้ยวหมายเรียกชี้แจงกองปราบฯ ส่อพิรุธปั้นตัวเลขเท็จ งาบงบนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน อีกด้านร่อนหนังสือจี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้งกรรมการสอบ ขณะมาตรฐานนํ้านมดิบเทอม 2/60 เข้ม ผู้ประกอบการขู่ถอนยวงหากถูกบังคับ วัดใจ “ฉัตรชัย” สั่งถอย
“ฐานเศรษฐกิจ” ยังเกาะติดโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนที่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ประเด็นล่าสุดทางตำรวจกองปราบ ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 25 โรงนม-สหกรณ์ที่ส่อทุจริตปั้นตัวเลขการซื้อขายนํ้านมดิบจากเกษตรกรเป็นเท็จเพื่อรับสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียน โดยไม่กล้าเปิดเผยเอกสารหลักฐาน
นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดทางกรมได้ติดต่อสอบถามไปยังกองบังคับการกองปราบปรามถึงความคืบหน้าของคดี หลังจากที่นายกิตติศักดิ์ เกียรติไกรวัลศิริ นายกสมาคมผู้ผลิตนม ยู.เอช.ที ได้ไปแจ้งความ เพื่อให้ดำเนินคดีกับเกษตรกรและโรงนมเอกชน ศูนย์รวบรวมนํ้านม ที่มีการนำนํ้านมโคที่เป็นเท็จมาสำแดงเพื่อขอสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนและขอโควตาการนำเข้านมผง ที่ผ่านมาทางกองปราบได้รับเรื่อง และสอบสวนผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกว่า 30 โรง จากทั้งหมด 70 โรงที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน ในจำนวนนี้มี 25 โรง (ดูกราฟิกประกอบ)ไม่มาให้ปากคำ หรือนำหลักฐานมาชี้แจง ทางกองปราบจึงได้ส่งรายชื่อมายังกรม
[caption id="attachment_172272" align="aligncenter" width="503"]
กิตติศักดิ์ เกียรติไกรวัลศิริ[/caption]
“กองปราบตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประกอบการที่ไม่มาให้ปากคำมีพฤติกรรมน่าสงสัย ซึ่งทางกรมจะส่งรายชื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม(มิลค์บอร์ด)เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ตั้งคณะกรรมการสอบหรือไม่อย่างไร และจะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการในเทอม 2/2560 ได้หรือไม่”
สอดคล้องกับ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้การกองปราบปราม กล่าวว่า จากการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานโครงการนมโรงเรียน งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 พบกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่า จะมีการแจ้งปริมาณการซื้อขายนํ้านมโคอันเป็นเท็จไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่มิลด์บอร์ดประกาศ รวมถึงขั้นตอนการจัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การซื้อขายนํ้านมโค ปี 2559/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
“พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ขัดขืนหมายเรียก ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(16) (เพิ่มเติม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 หากพบผู้ซื้อผู้ขายรายงานนํ้านมดิบเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่กรณีเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นายวสันต์ จีนหลง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด(บจก.) 1 ในผู้ประกอบการ 25 ราย เผยว่าสาเหตุที่ไม่ให้ตำรวจกองปราบตรวจสอบเพราะไม่รู้ว่าจะเอาหลักฐานไปเพื่อการใด ใครกล่าวหาใครยังไม่รู้ การที่เรียกไปเป็นพยานจะต้องทราบรายละเอียดก่อนเพราะถ้าให้ไปอาจกลายเป็นประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการนมโรงเรียน 1 ใน 70 ราย กล่าวว่า เห็นควรชะลอมาตรฐานคุณภาพนํ้านมดิบในโครงการนมโรงเรียนตามประกาศของมิลค์บอร์ดออกไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานในภาคเรียนที่ 2/2560(เริ่ม 1 พ.ย.60-15 พ.ค.61) ที่กำหนดให้มีปริมาณของแข็งรวม (Total Solid :TS) 12.30% โดยให้ยังคงใช้ค่า TS ที่ 11.58% หากถูกบังคับจะไม่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน และจะไม่รับนํ้านมดิบจากเกษตรกร
ด้านนายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 27 กันยายนนี้จะนำเรื่องให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้พิจารณาว่าจะชะลอหรือผ่อนปรนเรื่องมาตรฐานคุณภาพ นํ้านมดิบหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรชะลอ เนื่องจากทางผู้ประกอบการรับปากว่าทำได้ จึงเสนอแผนสู่ยุทธศาสตร์นมโรงเรียน เป้าหมายนํ้านมดิบ TS จะต้องเป็น 12.5% ในปี 2562
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560