“MEiD” ผู้ให้บริการฮาร์ดแวร์ช่วยชีวิตคน รุกหนักตลาดออนไลน์ หวังเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุด พร้อมหาลูกค้าองค์กรสร้างฮาร์ดแวร์ตอบโจทย์ความต้องการแต่ละองค์กร และปรับกลยุทธ์สู่ 1 ตัวแทน 1 จังหวัด ดันยอดรายได้สู่ 7 หลักต่อเดือน แย้มเตรียมพัฒนารูปแบบไปสู่อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
นายปีติพงศ์ เหลืองเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท MEiD จำกัด ผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ในรูปแบบของริสต์แบนด์หรือสายรัดข้อมือ (Wristband) และสติกเกอร์เพื่อช่วยเหลือชีวิต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผน การทำตลาดในระยะต่อไปนั้น จะมุ่งเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยง่าย อีกทั้งคุณสมบัติในการใช้งานของ MEiD ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตค่อนข้างมาก ดังนั้น ลูกค้าที่จะเลือกใช้งานจึงเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงโซเชียลมีเดีย
[caption id="attachment_212978" align="aligncenter" width="503"]
ปีติพงศ์ เหลืองเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท MEiD จำกัด[/caption]
นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการในเชิงรุกด้วยการเข้าถึงลูกค้าในรูปแบบขององค์กร เพื่อนำเสนอโปรแกรมที่สามารถผลิตตามความต้องการของแต่ละองค์กรได้ เพราะบริษัทมีทีมงานหลังบ้านทางด้านไอทีที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรได้โดยเชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ฐานลูกค้าของบริษัทขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี บริษัทยังจะมีปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของการขายตลาดในรูปแบบตัวแทนจำหน่ายไปสู่การมี 1 ตัวแทนจำหน่ายต่อ 1 จังหวัด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 10 ราย โดยตัวแทนจำหน่ายจะต้องผ่านการคัดสรรคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางมาตรฐานเอาไว้ อีกทั้งยังเตรียมพัฒนาต่อยอดริสต์แบนด์ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัย เนื่องจากมองว่าแต่ละกลุ่มลูกค้าก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป และล่าสุดกำลังร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว เพื่อจำหน่ายร่วมกันในแพ็กเกจ
“เราค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับการคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย เพื่อผลิตภัณฑ์ของเรามีความเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ชีวิตของคนในยามที่ฉุกเฉิน ดังนั้น ทุกรายจะต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่เรากำหนด โดยจากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถทำให้บริษัทมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 7 หลัก หลังจากที่ปัจจุบันซึ่งเปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 5 เดือนบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6 หลักต่อเดือน”
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า วิธีการใช้งานริสต์แบนด์ และสติ๊กเกอร์สำหรับผู้ที่ไปพบกับผู้ที่สวมใส่ และต้องการช่วยเหลือนั้น สามารถทำได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การอ่านข้อมูลจากคิวอาร์โค้ด (QR code) บริเวณที่ติดตั้งฮาร์ดแวร์เอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่เป็นพื้นฐานที่สุด เพียงแค่ผู้ที่ไปพบเจอมีโปรแกรม หรือแอพพลิเคชันที่สามารถอ่านบาร์โค้ดได้บนสมาร์ทโฟนก็จะรู้ข้อมูลของบุคคลนั้นได้ทันทีว่ามีโรคประจำตัว กรุ๊ปเลือด หรือที่อยู่ ฯลฯ ได้, 2.การล็อกอินผ่านทางเว็บไซต์ จะมีระบุไว้บนริสต์แบนด์ หรือสติกเกอร์ โดยผู้ที่พบเจอเพียงแค่ใส่ไอดี และพิน (PIN) ที่ปรากฏอยู่ก็จะรู้ข้อมูลได้เช่นเดียวกัน และ 3.การโทรศัพท์เข้ามายังสายด่วนให้บริการ (Hot line) เพื่อบอกไอดี และพินกับเจ้าหน้าที่ ก็จะรู้ข้อมูลได้ทันที
“หัวใจสำคัญของการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุคือไอดี และพินที่ปรากฏอยู่ ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือผู้ที่สวมใส่ หรือติดสติกเกอร์จะต้องกรอกข้อมูลของตนเองลงไปในระบบ เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ได้ในยามที่จำเป็น”
ขณะที่จุดเด่นของ MEiDอยู่ทีมงานของบริษัทซึ่งจะเป็นทีมแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล หรือคลินิกทั้งหมด รวมถึงระบบที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากหลากหลายวิธี ทั้งคิวอาร์โค้ด เว็บไซต์ และสายด่วนแบบ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงทำให้ผู้ที่ใช้งานรู้สึกถึงความปลอดภัยได้เมื่อยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินกับตนเอง และมีผู้อื่นผ่านมาพบเหตุการณ์
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า บริษัทยังเตรียมพัฒนาฮาร์ดแวร์ไปสู่รูปแบบอื่นที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นริสต์แบนด์ หรือสติกเกอร์ แต่จะเป็นของใช้หรืออุปกรณ์ที่ทุกคนจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ทั้งยังจะตั้งทีมแพทย์ที่จะช่วยลูกค้าในการกรอกข้อมูล เพื่อการให้บริการที่ครบวงจร แต่อาจจะมีการเรียกเก็บค่าบริการ โดยจะเป็นการให้บริการแบบพรีเมียม
“จุดประสงค์ที่ทำธุรกิจก็เพื่อต้องการให้ทุกคนได้มีข้อมูลประจำตัวที่สามารถบอกผู้อื่นได้ว่าตนเองมีประวัติอย่างไรทางการแพทย์ หรือข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเช่นที่อยู่ โดยไม่สำคัญว่าจะต้องใช้ริสต์แบนด์ หรือสติกเกอร์ของบริษัท เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการช่วยเหลือชีวิตคน หากเป็นไปได้ก็อยากให้เลือกบริการจาก MEiD”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560