กรมการขนส่งทางบก และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการให้บริการระบบสารสนเทศ และการสื่อสารด้วยเครือข่ายสัญญาณประสิทธิภาพสูง เพิ่มทางเลือกและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการตามโครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถแท็กซี่ พร้อมสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มแรงจูงใจการเข้าร่วมโครงการ
วันนี้ (3 ตุลาคม 2560) กรมการขนส่งทางบก นำโดย นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดย นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร ตามโครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวของกรมการขนส่งทางบก ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลการเดินรถของรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถแท็กซี่ทุกคัน
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจโลจิสติกส์ และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสนับสนุนและจูงใจให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก รถแท็กซี่ และรถประเภทอื่นๆ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ติดตั้ง GPS Tracking เพื่อติดตามการเดินรถ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่สำคัญ
กรมการขนส่งทางบก และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำความตกลงร่วมมือกันเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสารด้วยรูปแบบการทำงานที่ตอบสนอง และรองรับการทำงานของระบบ GPS Tracking ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทางกลุ่มทรู ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายส่งสัญญาณชั้นนำของประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ประกอบการ นอกจากจะเป็นการเพิ่มทางเลือกและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการในการใช้บริการเครือข่ายสัญญาณที่มีคุณภาพ ยังเป็นการยกระดับการบริหารจัดข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถแท็กซี่ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบและสร้างสรรค์สังคม
โดยภาคเอกชนเช่นกลุ่มทรูพร้อมมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 กรมการขนส่งทางบกเริ่มขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์จากติดตั้ง GPS Tracking ในรถแท็กซี่ภายใต้โครงการ Taxi OK และ Taxi VIP ซึ่งประชาชนจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการใช้บริการรถแท็กซี่มาตรฐานใหม่ที่เหนือกว่า ทั้งด้านคุณภาพความปลอดภัยและการให้บริการ ควบคู่กับการกำกับ ควบคุม คัดกรอง และบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐ
นอกจากนี้ ภายในปีนี้ กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มดำเนินการติดตั้งจอแสดงตารางเวลาการเดินรถแบบเรียลไทม์ที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร (Smart Bus Terminal) ในสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบกและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 85 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้โดยสารทราบเวลาและเส้นทางการเดินรถ ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดใช้ประโยชน์จากระบบ GPS Tracking ที่ติดตั้งในรถโดยสารสาธารณะ โดยคาดว่าภายในปี 2561 จะติดตั้งจอแสดงตารางเวลาแล้วเสร็จทุกสถานี พร้อมขยายผลขอความร่วมมือให้เอกชนที่บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารเข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการด้วยนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเครือข่ายสัญญาณจะยกระดับการบริหารจัดการข้อมูล รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกที่เป็นฐานข้อมูลเดียวกันทั้งประเทศแบบครบวงจร ทั้งยังเป็นการบริหารจัดการร่วมกันแบบ 360 องศา ออนไลน์แบบเรียลไทม์ทั้งศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กลางที่กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วไทย ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย ตลอดจนประชาชน สังคมสาธารณะสามารถติดตามการเดินรถ ผ่าน Application : DLT GPS บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
ซึ่งได้เริ่มดำเนินการให้รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไป ต้องติดตั้ง GPS Tracking มาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นมา จากการติดตามการเดินรถพบว่าความเร็วของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกลดลงอย่างชัดเจน โดยภายในปีนี้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทจะต้องติดตั้ง GPS Tracking ครบถ้วนทุกคัน ก่อนนำมาให้บริการซึ่งจะเป็นการยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะสู่ระดับที่เหนือกว่า ในส่วนของรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไป ต้องดำเนินการให้ครบทุกคันภายใน ปี 2562
เพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ประชาชนมีความมั่นใจ ผู้ประกอบการมีระบบบริหารจัดการรถและใช้ประโยชน์จากระบบ GPS ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มโอกาสในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ ASEAN ทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย
ด้าน นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กรมการขนส่งทางบก ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการเดินรถ ตามโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งสาธารณะของประเทศให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มทรู มีความพร้อมนำศักยภาพเครือข่ายทรูมูฟ เอช 4G+ ที่ดีที่สุดและครอบคลุมมากที่สุดทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ GPS Tracking ในการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลออนไลน์ของศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กลาง และเติมเต็มการใช้งานในยุคดิจิทัลให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามการเดินรถผ่าน Application : DLT GPS ของกรมการขนส่งทางบก บนสมาร์ทโฟนทั้งระบบ iOS และ Android ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มทรู ยังเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยนำเสนอโซลูชันที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการธุรกิจขนส่งได้อย่างคล่องตัว และช่วยบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย Business IoT SIM ที่สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ GPS และกล้องในรถที่ต้องมีการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลกลางที่จัดเก็บบนระบบคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์
ซึ่งผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการ IoT SIM ได้ด้วยตัวเอง และยังมีโซลูชัน True Smart Transport with DLT ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมการขนส่งทางบก ให้บริการ GPS Tracking มีอุปกรณ์ติดตั้งครบชุด สามารถบันทึกภาพความละเอียดสูง จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ พร้อมมีระบบแจ้งเตือน และระบบการรายงานผ่านเว็บเบราเซอร์ ทำให้สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน สามารถรองรับการทำงานได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ตอบโจทย์การใช้งานและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไทยในยุคดิจิทัลได้อย่างครบวงจร