สยยท. เสนอตั้งคนกลางสอบ ‘ธีธัช-ฉัตรเฉลิม’ และบอร์ดบริหาร กยท. ทั้งคณะ ระบุ บริหารยาง 2 ปีเศษ ล้มเหลว ปมใหม่พบข้อมูลทุจริต ซื้อปุ๋ยเคมี 3 หมื่นตัน ร้อง ปปป. สอบ มั่นใจหลักฐานแน่น เอาผิดผู้ร่วมขบวนการ ... เอกชนแนะเลิกเซสส์ ดันยางขยับ 2 บาท/กก.
[caption id="attachment_157577" align="aligncenter" width="503"]
อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.)[/caption]
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา
มีแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ 2 กลุ่ม ไปเรียกร้องให้ปลด นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมไปถึงบอร์ด กยท. 15 คน ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานด้วย ซึ่งทาง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแล กยท. จะต้องตั้งคณะกรรมการกลางเข้าไปสอบ เพื่อความโปร่งใส ไม่ใช่ลงนามคำสั่งให้ประธาน กยท. ไปตั้งคณะกรรมการสอบตัวเอง แล้วจะหาความชอบธรรมได้อย่างไร
“จากราคายางกิโลละ 81 บาท (ชนิดแผ่นรมควัน) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 (ก่อนประกาศขายยางในสต๊อก 3.1 แสนตัน วันนี้ (วันที่ 20 พ.ย. 60) ตลาดกลางยางพาราสงขลา ราคาประมูลยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 47 บาทต่อกิโลกรัม ราคาต่างกัน 34 บาทต่อกิโลกรัม
เห็นชัดเจนว่า บริหารล้มเหลว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราคายางซื้อขายจริง มีการบริหารผิดพลาด ทำให้ยางล้นจนต้องปิดตลาด 3 แห่งรวด รวมทั้งการขึ้นภาษี (ค่าธรรมเนียมส่งออกยาง) 2 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้มีการทุบราคายาง ซ้ำเติมทุกข์ชาวสวน”
นายอุทัย กล่าวว่า
ทาง สยยท. ยังมีหลักฐานการซื้อขายปุ๋ยเคมี ส่อเอื้อทุจริตปุ๋ย ประมูลราคาแพงกว่าท้องตลาด เร็ว ๆ นี้ จะนำหลักฐานต่าง ๆ จากชาวสวนยางกว่า 124 คน ไปมอบให้กับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)
มั่นใจว่า หลักฐานแน่นหนา สามารถสาวโยงไปถึงผู้ร่วมขบวนการ เพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มเกษตรกร มีผู้มาร้องเรียนว่า ทางเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจมาข่มขู่คนที่ให้ข้อมูล ถือว่าไม่ถูกต้อง
[caption id="attachment_174063" align="aligncenter" width="503"]
วรเทพ วงศาสุทธิกุล[/caption]
ขณะที่ นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยถึงสต๊อกยางของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางรายใหญ่สุดจากไทย ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย. 2560 สต๊อกได้ปรับตัวขึ้นไปกว่า 5 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 10 พ.ย. 2560 อยู่ที่ 4.99 แสนตัน ทำให้จีนชะลอการนำเข้าและราคายางต่ำลง
ทางออกหนึ่ง ขอให้รัฐบาลยกเลิกเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (เซสส์) 2 บาทต่อกิโลกรัม เพราะถ้าเลิกเก็บ พ่อค้าจะไปบวกให้เกษตรกร 2 บาทต่อกิโลกรัม
ด้าน ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า ราคายางมีความผิดปกติ ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำยางก้อนถ้วยเกษตรกรขายได้ 30-32 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ชาวสวนยังขายยางได้เท่าเดิม
นักวิเคราะห์หลายสำนัก รายงานสภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทย ปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ในเดือน ก.ย. 2560 อยู่ที่ 3.1 แสนตัน ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ที่มีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 310,345 ตัน หรือลดลง 0.04% (ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) คาดว่า ผลจากค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก และสต๊อกยางจีนที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่ International Rubber Study Group (IRSG) คาดปริมาณการใช้ยางโลกในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 13.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ประมาณ 12.91 ล้านตัน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23-25 พ.ย. 2560 หน้า 08