สภาพัฒน์ เผยปี 2559 คนไทย 5.8 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยความยากจนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ขณะจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสัดส่วนคนจนสูงสุดของประเทศ
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่า ผลสำรวจปัญหาความยากจนในประเทศไทย พบว่าปัญหาความยากจนในภาพรวมของประเทศไทยลดลงมาก โดยจำนวนคนจน หรือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลงประมาณ 28 ล้านคนในช่วง 30 ปี จากจำนวนผู้ยากจน 34.1 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2559 สัดส่วนคนจนลดลงจาก 65.2% เหลือเพียง 8.6% ในปี 2559
โดยความยากจนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12.96% ภาคใต้ 12.35% และภาคเหนือ 9.83% ของประชากรในแต่ละภาคตามลาดับ และ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 ลำดับแรกในปี 2559 โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนคนจนสูงที่สุดดังนี้ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬิสินธ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อานาจเจริญ และน่าน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด ในประเทศไทย เป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2558 มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 26.9 ล้านคน โดย 38.7% ของประชากรกลุ่มนี้เป็นคนยากจนและคนเกือบจน อันเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตกเป็นคนจนได้ง่าย และเมื่อพิจารณาในภาพรวม กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้โดยเฉลี่ยเพียง 4,074 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่กำหนดให้มีอัตราอยู่ที่อย่างน้อยวันละ 300 บาทในทุกจังหวัด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แรงงานร้อยละ 55.7 ของไทยเป็นแรงงานนอกระบบ การมีงานทำไม่แน่นอน ทำให้รายได้ไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน