ทุ่ม1.3 หมื่นล.นำร่องปั้น EECI ปตท.-สวทช.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสร้างนวัตกรรม

23 ธ.ค. 2560 | 10:17 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2560 | 17:17 น.
สวทช.ลงนามเช่าพื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” กว่า 3 พันไร่ดึงปตท.ร่วมพัฒนานำร่อง ประเดิมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านนวัตกรรมปลายธ.ค.ปตท.ชงบอร์ดไฟเขียวงบการลงทุน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหนาที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ลงนามในข้อตกลงในการเช่าพื้นที่กว่า 3 พันไร่ บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นระยะเวลา 50 ปี เพื่อพัฒนาเป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอแล้ว

[caption id="attachment_220567" align="aligncenter" width="318"] เทวินทร์ วงศ์วานิช เทวินทร์ วงศ์วานิช[/caption]

สำหรับการเช่าพื้นที่ดังกล่าวจะแบ่งการพัฒนาเป็นระยะๆ ซึ่งเบื้องต้นจะเช่าพื้นที่ 350 ไร่ก่อน เพื่อที่สวทช.ดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยที่ปตท.จะลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการพัฒนาพื้นที่ตามแผนแม่บทที่ศึกษาไว้

ส่วนการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการลงทุนระบบสาธารณูปโภคนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินงบการลงทุน ที่จะบรรจุอยู่ในแผนลงทุน 5 ปี(2561-2565) ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) ปตท.พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในปลายเดือน ธันวาคมนี้

นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สายงานกิจการพิเศษ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สวทช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อมาดำเนินงานในอีอีซีไอช่วงปี 2561-2562 แล้ว 1,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเพื่อขยายผลสู่การผลิตเครื่องมือวิจัยและวิเคราะห์ตรวจสอบ จัดตั้งและบริหารศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางการพัฒนากำลังคนเป็นต้นรวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยสนามทดสอบ แหล่งรวมโรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต ที่จะรองรับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ เครื่องมือแพทย์และการบินอวกาศ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาเต็มรูปแบบและเปิดดำเนินการในปี 2564คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วงปี 2561-2564 ประมาณ 3 พันล้านบาท

TP10-3324-1B แหล่งข่าวจากสวทช.เปิดเผยว่า สำหรับการร่วมมือกับปตท.ครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องของการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเบื้องต้นทางปตท.จะใช้งบลงทุนในระยะแรก(2561-2564) ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นงบลงทุนทางด้านการวิจัยต่างๆ ซึ่งถือเป็นงบลงทุนเบื้องต้น ที่อาจจะยังไม่รวมการลงทุนด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ

ส่วนการเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีไอนี้ นอกเหนือจากปตท.และบริษัทในเครือปตท.แล้ว ทางสวทช.อยู่ระหว่างการหารือกับนักลงทุนต่างชาติใน 12ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ อิสราเอล อิหร่าน อินเดีย ไต้หวัน จีน คิวบา เป็นต้น โดยในส่วนของนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีความคืบหน้า 2 ราย ที่อยู่ระหว่างเจรจาที่จะมาลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และเกษตรสมัยใหม่

ขณะเดียวกันทางสวทช.มีความหวังจาก63องค์กรที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกันไปแล้ว จะเข้ามาลงทุนได้ครบทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มีสถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศถึง 5 สถาบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9