ธปท. เดินหน้า Request to Pay ไตรมาสแรกปีนี้ เอื้อระบบโอนเงินออนไลน์ธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี “สิริธิดา”ระบุ ยอดโอนเงินพร้อมเพย์ยังพุ่ง แม้ระบบจะล่มวันสิ้นปี ด้าน “วรรณา” ไอทีเอ็มเอ็กซ์แจงปริมาณ 5-7 แสน รายการต่อวัน ยังเห็นการผูกบัญชีเพิ่มเฉลี่ยหลัก 1 แสน
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยถึงพัฒนาระบบการชำระเงินระยะต่อไปว่า ระบบเรียกเก็บเงินผ่านพร้อมเพย์ หรือ Request to Pay ในภาคธุรกิจจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสแรกปีนี้ เพราะนอกจากการโอนเงินหรือชำระเงินที่สะดวกแล้ว ภาคธุรกิจยังจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ซึ่งบริการ Request to Pay น่าจะตอบโจทย์ของธุรกิจได้ ทั้งที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยธุรกิจอี-คอมเมิร์ชด้วย
[caption id="attachment_252174" align="aligncenter" width="346"]
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา[/caption]
ส่วนภาคประชาชน แม้จะมีบริการรับโอนเงินในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องทำให้เกิดความเข้าใจและเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ล่าสุด มีจำนวน 37.5 ล้านเลขหมาย (ณ วันที่ 7 มกราคม 2561) โดยแบ่งเป็นผูกบัญชีบัตรประจำตัวประชาชน 26 ล้านเลขหมาย และมือถืออีก 11.6 ล้านเลขหมาย ขณะที่ปริมาณการโอนเงินอยู่ที่ 5 แสนรายการ มูลค่าสะสม 3.24 แสนล้านบาท
“หลังเกิดเหตุการณ์ระบบขัดข้องปริมาณการโอนเงิน (โวลุม) ยังคงเพิ่มขึ้น แต่อาจจะมีการยกเลิกหรือชะลอการลงทะเบียนใหม่แค่ชั่วคราว ซึ่งธปท.จะติดตามดูพัฒนาการในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะเฟสต่อไปที่จะขยายไปในภาคธุรกิจยังคงต้องทำงานร่วมกับทางบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX) ซึ่งจากการเข้าไปดูวิธีการทำงานพบว่าไอทีเอ็มเอ็กซ์ใช้เวลาในการหาสาเหตุ แต่เมื่อพบปัญหาสามารถแก้ไขได้รวดเร็ว”
“วิธีการทำงานของไอทีเอ็มเอ็กซ์จะดูว่า เกิดเฉพาะบางรายหรือทั้งหมด โดยการจะปิดระบบนั้นก็ต้องมีกระบวนการ และต้องแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง จริงๆเมื่อพบสาเหตุเขาสามารถแก้ไขได้รวดเร็ว แต่วิธีการแก้แม้จะแล้วเสร็จแต่ยังไม่จบ เพราะเขาต้องเชิญแต่ละแบงก์มาทดสอบกันใหม่ จนแน่ใจว่าข้อมูลไม่ค้างท่อ เพราะไม่เช่นนี้อาจจะเกิด error”
ด้านนางวรรณา นพอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด หรือ ITMX เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธปท.ส่งทีมเข้ามาตรวจสอบระบบการทำงานของบริษัททันทีที่ระบบพร้อมเพย์ขัดข้องเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบเพิ่มเติม จากปกติจะตรวจสอบปีละครั้งอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ธปท.เน้นยํ้าและได้กำชับให้พิจารณาทำเป็นพิเศษ คือ แผน Accident Management โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ และการสื่อสาร (Communicate) ไปยังธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากระบบจะต้องเชื่อมโยงระหว่างกัน
นางวรรณากล่าวว่า ในวันที่เกิดเหตุการณ์ระบบล่มนั้น จะพบว่า การโอนเงินระหว่างธนาคาร จะไม่สามารถทำได้ จึงต้องมีการทดสอบ(Test)ระบบระหว่างธนาคารก่อนที่จะเปิดระบบใช้งาน แต่หากเป็นการโอนภายในธนาคารเดียวกัน จะไม่มีปัญหา ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้บริษัทเน้นแผนการสื่อสารด้วย ซึ่งบริษัทสามารถกู้ระบบคืนมาได้ หลังระบบล่มไปประมาณ 3-4 ชั่วโมง และสามารถโอนธุรกรรมค้างท่อในระบบจำนวนกว่า 2 หมื่นรายการได้ทั้งหมด แต่อาจจะมีบางธุรกรรมที่ไม่สามารถโอนได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ได้โอนเงินทั้งหมดภายในวันรุ่งขึ้น
“หลังจากเกิดเหตุ เรายังไม่พบว่า ธุรกรรมพร้อมเพย์ลดลงแต่อย่างใด ยังคงเห็นการผูกบัญชีเพิ่มเฉลี่ยต่อวันหลัก 1 แสนราย และปริมาณธุรกรรมการโอนเฉลี่ยยังคงหนาแน่นอยู่ที่ 5-7 แสนรายการต่อวัน ซึ่งพบว่าธุรกรรมในวันที่ 18 มกราคม 2561 มีปริมาณธุรกรรมสูงถึง 7 แสนรายการ ถือเป็นการทำสถิติใหม่ของธุรกรรมพร้อมเพย์ จึงมั่นใจว่าประชาชนยังคงมั่นใจในระบบพร้อมเพย์ และบริษัทอยากสื่อสารให้ประชาชนเชื่อมั่นระบบพร้อมเพย์มากขึ้น”
ทั้งนี้ ธปท.ให้โจทย์กับบริษัทเยอะมาก หลังระบบล้ม โดยหลักๆ หลังจากส่งทีมเข้ามาตรวจสอบ คือธปท.ต้องการให้พิจารณาถึงแผนการกู้ระบบ และแผนการสื่อสารเมื่อเกิดเหตุการณ์จะต้องเร็ว เพราะต้อง Improve กับธนาคารด้วย และกำชับว่า เหตุการณ์นี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก เพราะต้องยอมรับว่าวันที่ระบบล่มเป็นช่วงวันหยุด จะเห็นว่าประชาชนโทร.ถล่มเข้าคอลล์เซ็นเตอร์จำนวนมาก ซึ่งบริษัทก็ต้องออกมาสื่อสารให้ชัดเจน ซึ่งที่ผ่าน มาธปท.ได้ช่วยเราค่อนข้างมากในการสื่อสารให้ประชาชนและธนาคารรับทราบถึงสาเหตุที่ระบบขัดข้อง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561