กลุ่มธรรมาภิบาลบุกคมนาคม ยื่นหนังสือถึง “อาคม” ระงับเสนอชื่อ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” นั่งผู้ว่าการรฟม.คนใหม่ต่อครม. ชี้มีชนักข้อกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรง และอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบการกระทำความผิดโดยสตง. พร้อมเสนอแก้ไขปัญหาการสรรหาผู้ว่าการรฟม.ให้ถูกต้องและโปร่งใส
[caption id="attachment_255445" align="aligncenter" width="405"]
วิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม[/caption]
นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลเปิดเผยภายหลังเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมว่าได้ขอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ระงับการเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ เป็นผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ว่าพฤติการณ์ของนายภคพงศ์นั้นน่าจะเชื่อว่าเป็นการทุจริต และหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินแผ่นดิน ตามมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 หรือไม่
ประการสำคัญจากกรณีดังกล่าวนี้คณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงของรฟม.ชุดที่มีนายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธานยังได้มีข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รฟม.ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อ 68(6) แห่งข้อบังคับองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ฉบับที่ 20 ว่าด้วยพนักงานเมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างด้านบริหารงานก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เป็นเหตุ ให้รฟม.ต้องมีการเพิ่มมูลค่างานให้เอกชนเป็นผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงิน 290 ล้านบาทซึ่งขัดกับสัญญาหลักตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
“นายภคพงศ์นั้นถือเป็นผู้บริหารระดับสูงของรฟม.ซึ่งมีความรู้ความสามารถ มีประสบ การณ์สูง อีกทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ ย่อมรู้ดีกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องตามสัญญา ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้รับจ้าง อันน่าจะส่งผลเสียหายต่อรฟม.และไม่คุ้มค่าต่อเงินแผ่นดิน แต่กลับดำเนินการจนเกิดความเสียหายในที่สุด ถือว่าไม่เป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อตามที่คณะกรรมการตรวจสอบวินัยร้ายแรงของรฟม.กล่าวหาไว้แต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นยังเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสตง.
“ดังนั้นกรณีที่บอร์ดรฟม.เสนอชื่อผู้ที่โดนกล่าวหาว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งมีผลสรุปของคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงไปแล้วนี่ยังมาตั้งคณะกรรมการสอบซ้อนขึ้นมาอีกเพื่อฟอกความผิดซึ่งจากผลสรุปของคณะกรรมการฯชุดแรกนั้นน่าจะนำไปพิจารณาว่าให้ออกหรือไล่ออกได้เลยทันที นอกจากนั้นยังมีการไปขยายระยะเวลาและเพิ่มวงเงินค่าจ้างให้เอกชนอีก 290 ล้านบาทย่อมเกิดความเสียหายต่อรฟม.ไม่ควรดันทุรังเอาคนที่ไม่โปร่งใสไปทำหน้าที่ผู้ว่าการรฟม. ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงควรรอผลสรุปของสตง.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ชัดเจนก่อนเสนอครม.เพื่อจะได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการรฟม.ได้อย่างสง่างาม”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561