ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์แบงกิ้งเอเยนไตรมาสแรกปีนี้ -เปิดช่องร้านสะดวกซื้อ-ทำหน้าที่แทนธนาคาร ด้านแบงก์แบ่งรับแบ่งสู้ อ้างต้องทำระบบรองรับส่อแววแท้ง
[caption id="attachment_259759" align="aligncenter" width="384"]
ดารณี แซ่จู[/caption]
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ธปท.จะประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนของธนาคาร(Banking Agency) ซึ่งการเปิดช่องให้ธนาคารว่าจ้างตัวแทนจากภายนอกหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือผู้ให้บริการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ขณะเดียวกันธนาคารสามารถลดต้นทุนในการให้บริการรับเงิน หรือเรียกเก็บเงินจากลูกค้าหรือประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลรวมถึงลดการขนเงินด้วย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น ต้องยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงซึ่งธนาคารจะต้องมีระบบควบคุมที่ดี ส่วนตัวแทนนั้นก็ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจของแต่ละธนาคาร
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารยังหารือถึงแนวทางที่จะเปิดให้ตัวแทนทำหน้าที่ซึ่งยังไม่สามารถสรุปในรายละเอียด โดยหลักการก่อนหน้านั้น วัตถุประสงค์เพื่อให้ธนาคารว่าจ้างผู้ให้บริการภายนอก ดำเนินการแทนในบางกลุ่มงานโดยให้ขยายขอบข่ายอนุญาตการแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงินเพิ่มใน 6ประเภท คือ รับฝากเงิน รับถอนเงิน-โอนเงินเฉพาะบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ (ปณท) หรือรับชำระเงินโดยธนาคารอื่นๆ ปณท สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการรับจ่ายเงิน เป็นต้น
แต่เนื่องจากกติกาและกฎเกณฑ์ใหม่ภายใต้กำกับสถาบันการเงินที่จะมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน(IFRS9) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ได้กำหนดหลักการ และวิธีการทางบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน ประกอบด้วย ลูกหนี้ เงินลงทุน เงินกู้ยืม ซึ่งต้องจัดประเภทรายการให้สอดคล้องกับธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการพิจารณาความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และธนาคารต้องเตรียมความพร้อมด้านฐานข้อมูลและระบบงาน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการว่าจ้างตัวแทนดำเนินการแทนอย่างรอบคอบ
“การจะว่าจ้างผู้ให้บริการจากภายนอกทำหน้าที่แทนแบงก์ต้องดูให้รอบคอบว่าอะไรจะทำได้หรือขอบข่ายทำได้แค่ไหน เพราะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ภายใต้กติกาใหม่ เฉพาะเรื่องIFRS9 นี่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานก็ต้องคิดให้ตกผลึก เรื่องหาตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่เพื่อมิให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง”
[caption id="attachment_259757" align="aligncenter" width="412"]
ปรีดี ดาวฉาย[/caption]
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า กรณีความร่วมมือกับปณทเพื่อเป็นตัวแทนในการให้บริการนั้น เรื่องดังกล่าวได้มีการวางคอนเซ็ปต์และหารือกันมาค่อนข้างนานแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สถาบันการเงินต้องทำระบบรองรับ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะปัจจุบันได้มีการให้บริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น โมบายแบงกิ้งซึ่งสามารถเข้าถึงลูกค้าและสถาบันการเงินได้ง่าย ที่สำคัญยังมีประเด็นว่า ลูกค้าผู้ใช้บริการจะให้การตอบรับมากน้อยเพียงไร จึงเป็นหลักการที่จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นอยู่กับจังหวะของธุรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561