สำนักงานประมงจังหวัดนนทบุรี เผยความสำเร็จการควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในพื้นที่โดยการบริโภคและเพิ่มมูลค่า จับมือวิสาหกิจชุมชนธนัชพร ดำเนินโครงการแปรรูปเป็นปลาร้าและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ทั้งนี้ จากปลาหมอคางดำในพื้นที่น้อยลง จึงเดินหน้าเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกพื้นที่ และขอความร่วมมือจากประมงจังหวัดใกล้เคียงช่วยจัดหาวัตถุดิบสำหรับทำปลาร้าเพิ่มอีกกว่า 6,000 กิโลกรัม
นางนิตยา รักษาราษฎร์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส รักษาราชการแทน ประมงจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในจังหวัดนนทบุรีใน 6 อำเภอ มีความหนาแน่นค่อนข้างน้อยแล้วในเวลานี้ เป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมจัดการปัญหาตามมาตรการของกรมประมงอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการบริโภค
ปัจจุบัน ประมงจังหวัดนนทบุรียังดำเนินกิจกรรมสร้างแรงจูงใจในการจับปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ โดยรับซื้อปลาหมอคางดำจากพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร และร่วมกับเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนัชพร นำปลาหมอคางดำหมักเป็นปลาร้าจำนวน 10 ตัน และนำเศษและส่วนที่เหลือของปลาไปหมักทำน้ำหมักชีวภาพสำหรับเกษตรกร
ทั้งนี้ประมงจังหวัดนนทบุรียังต้องการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำปลาร้า จึงเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัด โดยผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลระบบนิเวศ และสร้างรายได้ให้ชุมชน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดการจำหน่ายปลาหมอคางดำได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดนนทบุรี
สำหรับปลาหมอคางดำที่ส่งมาจากจังหวัดใกล้เคียง ประมงจังหวัดนนทบุรีจะดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยของกรมประมงอย่างเคร่งครัด โดยนำปลาหมอคางดำตัดหัว ขอดเกล็ด พร้อมทั้งใช้วัสดุปกคลุมรถที่ขนส่งปลาอย่างมิดชิด
“ประมงจังหวัดนนทบุรีมีความต้องการรับซื้อปลาหมอคางดำมากกว่า 6,000 กิโลกรัม หรือมากกว่า 6 ตันสำหรับผลิตปลาร้า และน้ำหมักชีวภาพ เนื่องจากปลาหมอคางดำในจังหวัดมีไม่เพียงพอ จึงขอความร่วมมือจากประมงจังหวัดอื่น ๆ นำปลาหมอคางดำที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาขายให้กับประมงนนทบุรี ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางตัวอย่างการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ไม่เพียงช่วยดูแลความสมดุลของระบบนิเวศ แต่ยังสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมกัน”
นางนิตยา กล่าวอีกว่า สำหรับในปีนี้ ประมงจังหวัดนนทบุรียังบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนในการจัดการปลาหมอคางดำในจังหวัดนนทบุรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง การปล่อยปลานักล่าเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมาที่จังหวัดได้มีปล่อยปลาช่อน ปลากราย ปลาอีกง ปลากดเหลือง ทำหน้าที่เป็นนักล่าในลำคลองต่างๆ กว่า 122,000 ตัว การติดตามเฝ้าระวังการแพร่กระจาย
ตลอดจนสร้างความตระหนักและส่งเสริมการนำมาแปรรูปและบริโภค เพื่อควบคุมปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาระบบนิเวศของแหล่งน้ำในจังหวัดนนทบุรี และมีส่วนช่วยป้องกันและควบคุมปลาหมอคางดำในลำคลองที่เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี อาทิ กรุงเทพมหาคร ปทุมธานี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา