สืบเนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีน ได้ตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารของทุเรียนไทยที่นำเข้าไปยังประเทศจีน และพบปัญหาการใช้สารย้อมสีที่เรียกว่า “Basic Yellow 2” ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ ลักษณะเป็นผงสีเหลืองที่ใช้ในการย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B
ทั้งนี้ทางการจีน กำหนดมาตรการให้ทุเรียนทุกล็อตที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จะต้องแนบผลวิเคราะห์ Basic Yellow 2 และหากพบสารต้องห้ามจะระงับการนำเข้าทันที มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 (ก่อนการออกใบ PC ในสินค้าทุเรียนทุกตู้ต้องมี test report ทั้ง Basic Yellow 2 และแคดเมียมแนบไปทุกครั้ง)
ล่าสุด นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางกรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งออกประกาศ เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 ตามพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกันโรค และตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน กำหนดให้ผลไม้ต้องไม่มียาฆ่าแมลงและสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามกฎหมายและกฎระเบียบ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในกรณีที่กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีค่ามาตรฐานกำหนด ให้ใช้ค่ามาตรฐานกำหนดโดยองค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศเป็นมาตรฐานอ้างอิงหรือค่ามาตรฐาน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค ตามสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ตกลงกัน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาร ราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสาร ห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568” โดย ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้เ ช่น Basic Yellow 2 ในทุเรียนผลสด ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน มีดังนี้
(1) กรณีที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ต้องใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้อง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง หรือตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า
(2) กรณีตรวจพบโรงคัดบรรจุใช้สารห้ามใช้หรือมีสารห้ามใช้ไว้ในครอบครองจะถูกระงับ การส่งออกและนำไปสู่การยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชก็ได้(๓) กรณีเจ้าหน้าที่สงสัยว่าทุเรียนมีการใช้สารห้ามใช้ให้มีอำนาจสั่งให้โรงคัดบรรจุนำผลทุเรียนนั้นไปตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายของ ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อน ดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำผัก ผลไม้ และอาหาร ต้องปลอดภัย และมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก