'อาชีวะ' คึก!! ทำงาน 'อีอีซี'

26 ก.พ. 2561 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2561 | 15:33 น.
1524

12 อาชีวะ เปิดรับ น.ศ. โครงการ ‘สัตหีบโมเดล’ เรียนฟรี! ระดับ ปวช.-ปวส. จบแล้วมีงานทำ เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท รองรับการจ้างงานใน ‘อีอีซี’ ล็อตแรกเดือน พ.ค. นี้ ขณะที่สถาบันอาชีวะหลายแห่งขอร่วมโครงการ

นายวัชรินทร์ ศิริพาณิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตกำลังคน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในโครงการ ‘สัตหีบโมเดล’ หรือ การยกระดับอาชีวะในพื้นที่เขคเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ในวันพุธที่ 28 ก.พ. นี้ สกรศ. จะลงพื้นที่ไปที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยเชิญผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวะ 12 แห่ง ที่อยู่ในโมเดลนำร่องมาประชุมครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังข้อเสนอปัญหาต่าง ๆ ในการเปิดรับนักศึกษาในสาขาวิชาที่แต่ละวิทยาลัยเสนอเข้าร่วมโครงการ ‘สัตหีบโมเดล’ เรียนอาชีวศึกษาระดับ ปวช.-ปวส. ฟรี จบออกมามีงานรองรับ เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท

สำหรับ 12 วิทยาลัยเทคนิค ที่จะร่วมประชุม ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคพัทยา, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี, วิทยาลัยเทคนิคพัทยา, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี, วิทยาลัยเทคนิคตราด, วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา, วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี, วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว, วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา), วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี

 

[caption id="attachment_262637" align="aligncenter" width="401"] วัชรินทร์ ศิริพานิช วัชรินทร์ ศิริพานิช[/caption]

ส่วนสาขาวิชาที่ 12 อาชีวะเสนอเข้าร่วมโครงการ ‘สัตหีบโมเดล’ ประกอบด้วย สาขาช่างอากาศยาน, สาขาระบบขนส่งทางราง, สาขาตรวจสอบโดยไม่ทำลาย, สาขาเมคแคทรอนิกส์, สาขาหุ่นยนต์และแขนกล, สาขาการท่องเที่ยว, สาขาการโรงแรม, สาขายานยนต์สมัยใหม่, สาขาโลจิสติกส์, สาขาชิ้นส่วนยานยนต์, สาขาวิชาการจัดการคลังสินค้า, สาขาวิชาซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าในระบบขนส่งทางราง, สาขาช่างกลโรงงาน และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ

ขณะที่ สิทธิพิเศษของนักศึกษาที่เรียนใน 12 วิทยาลัยอาชีวะใน ‘สัตหีบโมเดล’ มีการการันตีจากสำนักงาน สกรศ. ว่า ในการเรียนจะมีอาจารย์พิเศษและอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยจากสถานประกอบการจัดหาใหม่ ระหว่างเรียนจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน เมื่อเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการในพื้นที่ ‘อีอีซี’ จะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย และเมื่อเรียนจบจะได้เข้าทำงานในสถานประกอบการทันที โดยมีค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า แต่ละวิทยาลัยยังสามารถปรับลดหรือเพิ่มสาขาวิชาที่มีความพร้อมให้พิจารณาอีกครั้ง โดย สกรศ. จะประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้ เพื่อหาทางสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งงบประมาณ เพื่อให้มีการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ปีการศึกษา 2561 หรือช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนสาขาวิชาใหม่ในกลุ่ม NEW S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ชีวภาพ และเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หากยังไม่พร้อมเปิดสอน ก็จะต้องพิจารณาว่า ต้องเตรียมการอย่างไร

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

“ขณะนี้มีสถาบันอาชีวะหลายแห่งแสดงความจำนงต้องการเข้าร่วม ‘สัตหีบโมเดล’ แต่ สกรศ. ยืนยันว่า ‘สัตหีบโมเดล’ ต้องการคุณภาพมากกว่าปริมาณ เด็กที่เรียนจบสถานประกอบการต้องยอมรับ จึงต้องขออนุญาตนำร่องใน 12 วิทยาลัย ให้สำเร็จก่อน จากนั้นจะมีการขยายผลเปิดให้สถาบันการศึกษาอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการต่อไป” นายวัชรินทร์ กล่าว

ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตกำลังคน กล่าวต่อไปว่า มีแนวคิดในการตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อทดสอบนักศึกษาที่เรียนจบจาก ‘สัตหีบโมเดล’ เพื่อออกหนังสือรับรองให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อยืนยันว่า เมื่อวิทยาลัยผลิตคนออกมาแล้วต้องมีคุณภาพ เป็นการสนับสนุนคนไทยให้ไปสู่ระดับโลกอีกทาง ตามแนวคิดที่จะปั้นเด็กไทยในบ้านเราเอง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25-28 ก.พ. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว