เปิดแล้วงานมหกรรมผ้าทอมือภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมเอาศิลปะประเพณีวัฒนธรรม อารยธรรม วิถีชีวิตพื้นถิ่นของชนชาติกลุ่มประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า ที่บริเวณทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมผ้าทอมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS FABRIC EXPO 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยจังหวัดอุดรธานีและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 ประเทศเข้าร่วมในงานมหกรรมผ้าทอมือภูมิภาคลุ่มน้ำโขงดังกล่าว คือ ประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้(ยูนนาน)
ซึ่งการจัดงานมหกรรมฯครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด อลังการสีสันผ้าทอมือแห่งลุ่มน้ำโขง หรือ Colorful Fabric Life โดยมีบูธทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่นำเอาสินค้าผ้าทอมือมาจำหน่ายจำนวน 160 บูธ ที่ตั้งในโดมติดแอร์คอนดิชั่นขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีบริเวณการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และจุดแสดงความเป็นมาของสุนัขคุณทองโบราณ ที่ถูกขุดพบในบริเวณแหล่งโบราณคดีมรดกโลกบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ได้รับพระราชทานนามจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9
โดยมีนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่ายงายของจังหวัดอุดรธานี ผู้ว่าราชการ รองผู้ว่าราชการในจังหวัดภาคอีสานจำนวนหนึ่ง ผู้แทนระดับสูงจากกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโชง หรือ GMS ทั้ง 5 ประเทศได้แก่ประเทศ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว โดยงานมหกรรมผ้าทอมือภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 2018 นี้ จะมีการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธุ์- 4 มีนาคม 2561 เป็นเวลา 5 วัน
ทั้งนี้งานมหกรรมผ้าทอมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง 2018 ครั้งนี้ จะมีกิจกรรมการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับผ้าซิ่นทอมือจากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง การสัมมนาทางวิชาการ กิจกรรมส่งเสริมการขายผ้าทอมือฯและเพื่อการเชื่อมโยงการขายไปยังตลาดสากล การแสดงนิทรรศการการผลิตชิ้นผ้าทอมือด้วยวิธีการภูมิปัญญาท้องถิ่นจากแต่ละประเทศ เช่นแสดงการสาวไหม การย้อมสีธรรมชาติ การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ค้า ผู้ขายจากทุกประเทศที่ร่วมงานในลักษณะ: Business Pitching &Matching จนสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้ ด้วยการลงนามในหนังสือบันทึกความร่วมมือ ทั้งนี้ในวันแรกของงานได้มีการลงนามใน MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 16 หน่วยงาน