กรมทรัพย์สินทางปัญญาแนะข้อพึงระวังสำหรับผู้บริโภค ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการช่องทางการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระแสการซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์หรืออีคอมเมอร์ซกำลังเป็นที่นิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงเอสเอ็มอีที่มองเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ จึงเกิดเป็นตลาดการค้ามหึมาข้ามพรมแดนที่มีสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเลือกใช้มากมายมหาศาล โดยสามารถเปรียบเทียบราคาจนเป็นที่พอใจแล้วจึงตัดสินใจซื้อ
ขณะที่อีคอมเมิร์ซช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มทางเลือกในการซื้อขาย และจับจ่ายสินค้าให้แก่ผู้คนในยุคประเทศไทย 4.0 นี้ มีข้อควรระมัดระวังที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยากฝากสำหรับผู้ประกอบการที่ทำการค้าออนไลน์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) และผู้บริโภค ซึ่งอาจต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่ตั้งใจ สำหรับผู้ขายสินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า ควรมายื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเสียก่อนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
สำหรับผู้ที่นำสินค้าของผู้อื่นมาจำหน่ายควรระมัดระวังไม่นำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาจำหน่ายหรือให้ดาวน์โหลดทางอีคอมเมิร์ซ ควรตรวจสอบที่มาของสินค้าที่นำมาจำหน่ายว่ามาจากแหล่งหรือผู้ผลิตที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ ความผิดของผู้ขายสินค้าละเมิดออนไลน์ มีเช่นเดียวกันกับการขายตามร้านค้าทั่วไป แต่การจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ก็มีโทษสูงกว่าการขายสินค้าละเมิดผ่านทางช่องทางการค้าปกติทั่วไปด้วย
ด้านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการช่องทางการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ หรือผู้รับฝากคอนเท้นต์ หรือเจ้าของเว็บไซต์ เป็นต้น ควรให้ความร่วมมือกับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา โดยจัดให้มีช่องทางรับแจ้งการละเมิดที่ชัดเจน และมีกระบวนการและมาตรการในการนำสินค้าละเมิดออกจากระบบคอมพิวเตอร์เมื่อได้รับแจ้งหรือทราบว่ามีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจำหน่ายบนเครือข่ายหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนให้บริการอยู่ ผู้ให้บริการอาจมีความผิดหากปล่อยให้มีการละเมิดอย่างแพร่หลายในระบบคอมพิวเตอร์ของตน ดังนั้นในสัญญาการให้บริการ ควรมีข้อความระบุชัดเจนห้ามผู้ใช้บริการใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายในการจำหน่ายหรือเผยแพร่สินค้าละเมิด ซึ่งอาจใช้เป็นเหตุในการยกเลิกสัญญาได้
ในส่วนของผู้บริโภค ควรเลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าบริโภค อาหาร ยา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน เว็บไซต์ที่ให้ดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งภาพยนตร์หรือเพลงละเมิด อาจมีไวรัสหรือมัลแวร์ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เสียหายหรืออาจโจรกรรมข้อมูลสำคัญของเราได้
นายทศพล กล่าวเสริมว่า หากพบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอีคอมเมิร์ซ เจ้าของสิทธิสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นและแจ้งความร้องทุกข์เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้สืบเสาะขยายวงกว้างและดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดต้นทางมาดำเนินคดี และอาจใช้ช่องทางตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 โดยยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งคำร้องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออกจากระบบ
นอกจากการฟ้องคดีและการร้องขอให้ระงับการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว หากเจ้าของสิทธิและผู้กระทำผิดพร้อมใจกันที่จะตกลงไกล่เกลี่ย ก็สามารถใช้บริการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นายทศพล กล่าวย้ำว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อสินค้า ผู้ประกอบการประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์อยู่เสมอ อันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป