“อำพลฟูดส์” กางแผน 5 ปี ทุ่มกว่าพันล้านบาท ขยายกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 5 พร้อมผุด 50 ศูนย์กระจายสินค้า ก่อนเปิดบริษัทโลจิสติกส์ย่อยในเครือให้บริการขนส่งสินค้าครบวงจร หลังพบปัญหาตลาดกะทิแข่งดุกำไรหด มั่นใจกวาดยอดขายกว่า 5,000 ล้านบาท
นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท อำพลฟูดส์ฯ ผู้ผลิต จำหน่าย และส่งออกกะทิสำเร็จรูปแบรนด์ “ชาวเกาะ” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทวางนโยบายการทำงานนับจากนี้โดยเน้นพัฒนาสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดเพื่อดันให้สินค้าอื่นในเครือมีการเติบโตและสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาพรวมการแข่งขันในตลาดกะทิและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแม้จะมีการเติบโตสูง แต่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้นและหันมาแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก บริษัทจึงหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายออกสู่ตลาด โดยวางเป้าหมายว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนยอดขายกลุ่มอื่นๆ ได้ไม่ตํ่ากว่า 50% ใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของการแข่งขันเรื่องราคาในตลาดกะทิ ที่มีกำไรน้อยลงเรื่อยๆ จากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากมะพร้าว 70% และอื่นๆ 30%
[caption id="attachment_287779" align="aligncenter" width="503"]
เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร[/caption]
“นอกจากการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ บริษัทยังทุ่มงบลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาทในการขยายกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 5 ในจังหวัดราชบุรี บนพื้นที่ 80 ไร่ โดยเน้นไลน์การผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้รองรับการขยายตัวของธุรกิจทั้งในกลุ่มสินค้าใหม่และสินค้าเดิม โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปี”
พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมงบประมาณการลงทุน 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2561-2565) ด้วยการใช้เม็ดเงินราว 500 ล้านบาทในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่ม 50 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มจำนวนรถขนส่งสินค้ากว่า 100 คัน ที่จะไม่ใช่แค่กระจายสินค้าอย่างเดียว แต่จะเป็นศูนย์โลจิสติกส์ที่มีการรับสินค้าจากบริษัทอื่นช่วยกระจายสินค้าได้ เบื้องต้นในปีนี้จะเป็นการลงทุนในเฟสแรก 200 ล้านบาท กับการเปิดศูนย์กระจายสินค้า 20 แห่งในย่านตัวเมืองหรือพื้นที่ไม่ห่างไกลชุมชนมากนัก ซึ่งขณะนี้เปิดไปแล้ว 5 ศูนย์ที่ ขอนแก่น, เชียงใหม่, เชียงราย, นครปฐม, หาดใหญ่ เพื่อรองรับจำนวนสินค้าที่หลากหลายของบริษัท และยังปิดจุดอ่อนของบริษัทในเรื่องการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย โดยบริษัทวางเป้าหมาย 2 ปีนับจากนี้ด้วยการเปิดบริษัทย่อยในเครือเพื่อดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์โดยเฉพาะ
“ที่ผ่านมาแม้จะคิดค้นพัฒนาสินค้าในเครือได้หลากหลายแต่ยังมีจุดอ่อนเรื่องการ กระจายสินค้าดังนั้นแผนงานหลักนับจากนี้คือการทำอย่างไรให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ ซึ่งอดีตบริษัทขายผ่านโมเดิร์นเทรด, ยี่ปั๊วรายใหญ่ ปัจจุบันทำยังไงให้สินค้าลงไปสู่ผู้บริโภคร้านค้ารายย่อยให้มากขึ้น หรือตามต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นโลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญจึงได้พัฒนาโมเดลนี้ขึ้นมาเรื่องศูนย์กระจายสินค้า และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการเปิดศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวจะทำให้เข้าถึงร้านค้ารายย่อยและผู้บริโภคได้มากขึ้น และแต่ละศูนย์จะสามารถเข้าถึงร้านค้าย่อยได้ไม่ตํ่ากว่า 5,000 ร้านค้า จากปัจจุบันบริษัทมีร้านค้าย่อย 4-5 แสนร้านค้า และสามารถสร้างยอดขายสามารถเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 20-30%”
ทั้งนี้การรุกเข้าไปยังธุรกิจโลจิสติกส์นอกจากรถขนส่งสินค้า ที่จะต้องเพียงพอต่อการขนส่งแล้ว จำนวนสินค้าภายในรถที่ต้องเพียงพอคือเรื่องของการเข้าไปถึงร้านค้าโดยตรง เพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าในเครือและเพิ่มโอกาสทางการขาย โดยจะเน้นสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการไปเยี่ยมร้านค้าทุกสัปดาห์ และหากมีปัญหาสินค้าชำรุดหรือไม่สามารถจำหน่ายได้ก็สามารถเปลี่ยนคืนได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคีย์ซักเซสสำคัญในการสร้างความไว้ใจจนเกิดเป็นความเชื่อถือในตัวบริษัทขึ้น
ขณะที่แผนการสร้างแบรนด์อำพลฟู้ดส์นับจากนี้บริษัทจะเน้นการบริการจัดการตราสินค้าให้มาอยู่ร่วมกัน คืออำพลฟูดส์(APF) เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นเมื่อบริษัทพัฒนาหรือแตกไลน์สินค้าออกสู่ตลาด ซึ่งบริษัทมีแผนพัฒนาสินค้าในประเภทอื่นๆ อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารเสริม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายในช่วง 5 ปีนับจากนี้จะมีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท โดยในสิ้นปีนี้จะมีรายได้กว่า 3,800 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้ 3,000 ล้านบาทแบ่งเป็นยอดขายจากต่างประเทศ 30% ในประเทศ 70% และในอนาคตวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 70% และในประเทศ 30%
หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,373 วันที่ 10-13 มิ.ย. 2561