'เจ้าสัวเจริญ' เล็งแจ้งปิดศูนย์ฯสิริกิติ์ เม.ย. ปีหน้า ก่อนทุ่ม 6 พันล้าน ผุดโฉมใหม่อีก 3 ปี ยันยังเดินหน้าทำตลาดไมซ์ครบวงจรและโอนพนักงานบางส่วนไปบริษัทในเครือ ด้าน อิมแพ็ครับอานิสงส์รับงานใหม่ที่ย้ายมา
แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุดบริษัทได้ข้อสรุปว่า จะปิดให้บริการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในวันที่ 10 เม.ย. 2562 และเตรียมจะส่งจดหมายแจ้งไปยังลูกค้าประจำที่ใช้บริการต่อไป เพื่อทุบสร้างใหม่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานราว 3 ปี ใช้งบประมาณราว 6,000 ล้านบาท เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างบริษัทและกรมธนารักษ์ คาดว่าจะเซ็นสัญญาเร็ว ๆ นี้
โดยการลงทุนสร้างใหม่ จะทำให้ศูนย์ฯสิริกิติ์เป็นศูนย์ประชุมที่ทันสมัย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ในการรองรับตลาดไมซ์ ปรับพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว พร้อมที่จอดรถกว่า 3,000 คัน แต่จะไม่มีโรงแรม ซึ่งเมื่อศูนย์ใหม่เปิดบริการ ยังสามารถเชื่อมโยงการขายต่อเนื่องกับโครงการเอฟวายไอและเดอะปาร์ค (The PARQ) ซึ่งทั้ง 2 โครงการ อยู่ในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และอยู่ใกล้กับศูนย์ฯสิริกิติ์
แม้จะปิดศูนย์ฯสิริกิติ์ แต่กิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพนักงาน 200 คน ส่วนหนึ่งจะโอนย้ายไปอยู่ในบริษัทในเครือ ที่ทำและยังเดินหน้าทำการตลาดและขายตลาดไมซ์อยู่เช่นเดิม เพราะ เอ็น.ซี.ซี. ยังบริหารศูนย์ประชุมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงหากศูนย์ประชุม จ.เชียงใหม่ เปิดให้เอกชนเข้าไปบริหาร ก็มีแผนจะเสนอตัวด้วย
นอกจากนี้ บริษัทในเครือก็ทำธุรกิจตลาดไมซ์ครบวงจร โดยไปใช้บริการศูนย์ประชุมที่อื่น ทั้งที่ไบเทค บางนา , อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอฟแอนด์บี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเมจ จำกัด , บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชัน ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) เป็นต้น ที่ล้วนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดไมซ์อยู่แล้ว
น.ส.จินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยถึงกระแสข่าวเรื่องการย้ายสถานที่จัดงานหนังสือ จากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะปิดปรับปรุง 3 ปี ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาคมผู้จัดพิมพ์ ในฐานะผู้จัดงาน ได้ตัดสินใจเลือกย้ายสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ Thai National Book Fair มายังอิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นเวลา 3 ปี เริ่มครั้งแรกช่วงเดือน ต.ค. 2562 โดยเลือกอาคารชาเลนเจอร์ 2 พื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร ส่วนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จะจัดในเดือน ต.ค. 2561 และต้นเดือน มี.ค. 2562 จะยังจัดอยู่ที่ศูนย์ฯสิริกิติ์อยู่
สำหรับงานแสดงสินค้าแรกที่ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการย้ายสถานที่จัดงาน จากศูนย์ฯสิริกิติ์มาจัดงาน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เร็ว ๆ นี้ คือ มหกรรมแสดงสินค้าบริการเพื่อแม่และเด็กครบวงจร ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ เบบี้ แอนด์ คิดส์ เบสท์ บาย ครั้งที่ 31 วันที่ 5-8 ก.ค. 2561 ซึ่งเป็นมหกรรมแสดงสินค้าเพื่อแม่และเด็กยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย
ส่วนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แม้จะมาจัดที่อิมแพ็คในปีหน้า แต่ก็ได้วางแผนเตรียมความพร้อม สถานที่ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด เพื่อรองรับงานใหม่และลูกค้าใหม่ที่จะเดินทางมาในพื้นที่และอยากให้ลูกค้าสบายใจ ทางอิมแพ็คและผู้จัดงานเองได้ตระหนักถึงความกังวลในเรื่องนี้ แม้จะยังมีเวลาในการวางแผนบริหารจัดการอีกเกือบ 2 ปี แต่เบื้องต้น ได้มีการหารือในการอำนวยความสะดวกลูกค้าไว้บ้างแล้ว เช่น การจัดบริการรถรับ-ส่งมางานด้วย และในปี 2564 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้ายังพื้นที่เมืองทองธานีจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2565 ก็จะช่วยให้ลูกค้าเดินทางสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,378 วันที่ 28-30 มิ.ย. 2561 หน้า 22
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
'เจริญ-บีทีเอส' คว้าที่รัฐ! ธนารักษ์เปิด 3 โปรเจ็กต์ 4 หมื่นล้าน "หมอชิต-ศูนย์ฯสิริกิติ์-ร้อยชักสาม"
●
ทุนยักษ์ฮุบที่พระราม 3! LH ปักหมุดเทอร์มินอล 21 - 'ซีเล็คทูน่า' ซื้อดะ รับสายสีเทา