มะพร้าวตํ่าสุดรอบ 10 ปี ชาวสวนจี้รัฐประกันราคา-ยกเลิกนำเข้า

04 ก.ค. 2561 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2561 | 19:30 น.
ชาวสวนโวยนำเข้ามะพร้าว ทุบราคาตํ่าสุดรอบ 10 ปี ร้องทบทวนมาตรการใหม่ รายใหญ่ “เทพผดุงพรมะพร้าว” ขานรับประกันราคาแลกเงื่อนไขนำเข้า ยันผลผลิตไม่เพียงพอ “ประมง” แฉเส้นทางส่วยมะพร้าวเถื่อนจากอินโดฯ-เวียดนามทะลักเข้าไทย ชี้ช่องไอยูยูฮันเตอร์จัดการ

นางณภัทร จาตุรัส ประธาน กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวเหมืองใหม่ และเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าว  ตำบลเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ราคามะพร้าวตกตํ่าในรอบ 10 ปี โดยช่วงต้นปี 2561  ราคามะพร้าวแปรรูป (มะพร้าวกะเทาะกะลาเปลือกดำ สำหรับส่งตลาดทำอาหาร) อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 20-25 บาท ณ ปัจจุบัน (วันที่ 2 ก.ค.61) ลดลงเหลือเพียง 13-15 บาท/กก. TP8-3380-A

จากราคาที่ลดลงมามากดังกล่าว ส่งผลให้ล้งมะพร้าว(พ่อค้าคนกลางในท้องถิ่นที่รวบรวมมะพร้าวส่งให้โรงงาน) ไม่รับซื้อมะพร้าวและแจ้งสาเหตุที่ไม่รับซื้อเพราะโรงงานไม่รู้ขนมะพร้าวมาจากไหน คาดการณ์ว่าจะเป็นการขออนุญาตนำเข้าในช่วงก่อนเดือนมิถุนายนที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเลย โรงงานได้จังหวะขนเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์มาให้ล้งทำ  ฝ่ายล้งจึงไม่เดือดร้อน แต่ชาวสวนเดือดร้อนเพราะไม่รู้จะไปขายให้กับใคร เนื่องจากที่ผ่านมาทางล้ง จะทำหน้าที่รวบรวมมะพร้าว แล้วส่งให้กับโรงงานแปรรูป อีกด้านหนึ่งก็จะส่งตลาดสดเพื่อทำกะทิแกง กลายเป็นว่าชาว สวนถูกตัดออกจากระบบไปเลย

“อยากจะขอร้องผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ได้เห็นใจชาวสวนมะพร้าวด้วย ซึ่งให้นำเข้าได้แต่ต้องไม่กระทบกับเกษตรกรที่อยู่ไม่ได้ ปัจจุบันเกษตรกรก็พยายามช่วยตัวเอง เช่นปลูกกล้วยผสมผสานกับมะพร้าว ปรากฏว่ากล้วยก็ราคาตกอีก ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ขอความเห็นใจอย่าให้มะพร้าวต่างประเทศเข้ามาฆ่าเกษตรกรไทย เพราะจากสถิติมีการนำเข้าเพิ่มทุกปี(ดูกราฟิกประกอบ)”

สอดคล้องกับนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ที่กล่าวว่า ต้นเหตุของปัญหามาจากรัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ ซึ่งในพื้นที่สมุทรสงครามส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป ส่งผลให้ราคามะพร้าวในไทยมีราคาตํ่าลงจากโรงงานในพื้นที่กดราคารับซื้อ เรื่องนี้ทางจังหวัดได้มีการประชุมหารือหลายฝ่ายทั้งเอกชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ได้นำเสนอกันหลายแนวทาง อาทิ ประกันราคา ส่วนเกษตรกรเสนอให้แจ้งรัฐบาลทบทวนงดนำเข้ามะพร้าว แม้ว่าในครึ่งปีหลังกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดภาษีนำเข้า 48% ส่วนต้นปีภาษีเป็นศูนย์ แต่จะต้องขออนุญาตนำเข้าด้วย

นายเอกศักดิ์ เทพผดุงพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ชาวเกาะ” และ “แม่พลอย” กล่าวว่า สาเหตุที่ขอนำเข้ามะพร้าว เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งทราบข่าวว่ามีส่วนทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกตํ่า ทางบริษัทก็ยินดีที่จะให้รัฐบาลผลักดันนโยบายประกันราคามะพร้าวช่วยชาวสวน เพื่อแลกกับการขอนำเข้ามะพร้าวเข้ามา เพราะไม่อยากที่จะผลักภาระปรับราคาใหม่ให้กับผู้บริโภค แม้ว่ามะพร้าวเข้ามาราคาถูกกว่าในประเทศเฉลี่ย 30-50% แต่เมื่อหักค่าขนส่ง และสินค้าเสียหายแล้วสั่งในประเทศคุ้มกว่ารวดเร็วและสดกว่า

ด้านผู้ประกอบการประมง เผยว่าในช่วงนี้มีเรือขนถ่ายสัตว์นํ้าแปลงเป็นเรือขนมะพร้าวจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเข้ามาทางทะเล โดยใช้เส้นทางปัตตานี นราธิวาส ลักลอบเข้ามา คาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ ดังนั้นจึงขอให้ทางการรัฐบาลไทยโดยเฉพาะหน่วยเฉพาะกิจไอยูยูฮันเตอร์ และเครื่องบินไร้คนขับ เอยูวี หรือโดรน เข้าไปตรวจจับ เพราะเชื่อว่าทำให้ราคามะพร้าวตกตํ่า

ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่าล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศไปทบทวนข้อร้องเรียนของเกษตรกร ส่วนมาตรการประกาศราคาแนะนำ จะเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะไม่อยากให้กลไกตลาดมีปัญหา

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,380 วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2561
e-book-1-503x62-7