เกษตรฯพร้อมเยียวยาเกษตรกรเพชรบุรีเคาะจ่ายเงินน้ำท่วม23จ.กว่า 735 ล้าน

09 ส.ค. 2561 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2561 | 12:19 น.
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ณ จังหวัดเพชรบุรี ว่า ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 730 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งท่อระบายน้ำที่เรียกว่ากาลักน้ำ 15 ชุด เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ขณะนี้ มีน้ำล้นออกทางระบายน้ำล้น (spillway) สูง 45 เซนติเมตร (ไม่ใช่สันเขื่อน) ทำให้มีปริมาณน้ำไหลออกท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 15.30 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวไหลผ่าน อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายางจนถึงเขื่อนเพชร ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.08 - 2.20 ม. คาดการณ์ว่าในวันที่ 10 ส.ค.61 ระดับน้ำที่ล้นทางระบายน้ำล้น (Spill way) จะสูงสุดประมาณ 65 เซนติเมตร อัตราการไหลประมาณ 106 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านอาคารชลประทาน จะทำให้มีน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 224 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ยังไม่เกินความจุของแม่น้ำเพชรบุรีจะรับได้

kidp

แต่อาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่ง ที่จะมีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร และคาดว่าในวันที่ 11 ส.ค. 61 จะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลมารวมกันบริเวณหน้าเขื่อนเพชรในเกณฑ์ 230 – 250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งกรมชลประทานจะแก้ไขปัญหาน้ำมากดังกล่าวโดยทำการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีหน่วงน้ำหน้าเขื่อน และตัดน้ำเข้าคลองระบบชลประทานฝั่งซ้าย – ขวา ของแม่น้ำเพชรบุรีรวม 55 ลบ.ม./วินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที รวมปริมาณน้ำที่ตัดเข้าระบบทั้งสิ้น 90 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนเพชรในอัตรา 140 – 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ในเขตอำเภอท่ายางและอำเภอบ้านลาด ก่อนปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลผ่านลงสู่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ในวันที่ 12 ส.ค. 61 อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชนบางแห่ง ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 20 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำอีกด้วย

kidp1

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการบรรเทาสาธารณภัยแก่เกษตรกรและประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำด้านเกษตรไว้แล้ว โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 1. ด้านพืช 5 อำเภอ 461 ครัวเรือน พื้นที่ 4,681 ไร่ 2. ด้านประมง 5 อำเภอ 587 ราย พื้นที่ 9,822 ไร่ และ 3. ด้านปศุสัตว์ 4 อำเภอ 2,948 ราย สัตว์ 151,769 ตัว ซึ่งจังหวัดได้ประกาศเขตความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว 2 อำเภอ 5 ตำบล 27 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอท่ายาง 2 ตำบล 17 หมู่บ้าน และ อำเภอแก่งกระจาน 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน

โดยหากพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าว จะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกร จะต้องเป็นเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ไว้ก่อนเกิดภัยจึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเกษตรกรได้ไปแจ้งเกษตรอำเภอหรือเกษตรตำบลที่อยู่ใกล้บ้านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วย

เกษตรฯ เคาะจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมกว่า 735 ล้าน

ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุเซินตีญที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และเตือนอย่างต่อเนื่องถึงคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงนี้ที่ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น จึงต้องระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเตรียมรับมือป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้

som

จากรายงานสถานการณ์ล่าสุด พื้นที่การเกษตรประสบอุทกภัย จำนวน 23 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด ที่ประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม ยโสธร กาญจนบุรี และพื้นที่การเกษตรที่ประสบอุทกภัยแต่ยังไม่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อีก 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บึงกาฬ หนองคาย และตราด มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนรวมทั้งสิ้นจำนวน 101,032 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย 654,325.25 ไร่ จำแนกเป็นข้าว 581,540.75 ไร่ พืชไร่ 64,517.25 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 8,267.25ไร่

โดยภาคอีสานได้รับผลกระทบมากที่สุด 10 จังหวัด รวมกว่า 598,337.75 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 85,548 ราย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ผลกระทบกว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด รวมกว่า 581,540.75 ไร่ พืชไร่เสียหายกว่า 64517.25 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ เสียหายกว่า 8,267.25 ไร่ ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2561) ล่าสุด จ่ายเงินเยียวยา กว่า 735 ล้านบาท

som1 สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท

ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการและกำชับเจ้าหน้าที่ของส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้รวดเร็วที่สุด

e-book-1-503x62