ขนคนป้อนรถไฟฟ้าสีม่วง "ผู้ว่านนท์" ไฟเขียวสมาร์ทบัสเชื่อมตั๋วร่วมรฟม.

27 ส.ค. 2561 | 13:33 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2561 | 20:33 น.
 

526656 ผู้ว่าฯเมืองนนทบุรีบรรลุข้อตกลงกับรฟม.เดินรถระบบรองฟีดเดอร์ป้อนรถไฟฟ้าสายสีม่วงพร้อมใช้ระบบตั๋วร่วมแมงมุมให้บริการ ยันพร้อมทดสอบก่อนให้บริการเดินรถปลายปีนี้ ด้าน RTC เผยใช้ 4 ปัจจัยออกแบบระบบฟีดเดอร์นี้ บิ๊กรฟม.ยันพร้อมเปิดให้ RTC จอดรับ-ส่งผู้โดยสารในพื้นที่อาคารจอดรถได้ทันที คาดผู้โดยสารเพิ่มไม่น้อยกว่า 1-2 แสนคน

แนวทางแก้ไขปัญหาผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มเห็นภาพชัด รฟม.บรรลุข้อตกลงกับผู้ว่าฯเมืองนนทบุรีเร่งพัฒนาระบบฟีดเดอร์รูปแบบรถโดยสารสมาร์ทบัสด้วยระบบตั๋วร่วมแมงมุมให้บริการนำร่องเส้นทางเชื่อมถนนราชพฤกษ์ก่อนขยายไปเส้นทางอื่นอย่างต่อเนื่องพร้อมกับเร่งเปิดใช้บัตรตั๋วร่วมบัตรแมงมุมล็อตใหม่ให้ทันปลายปีนี้

โดยการประชุมร่วมระหว่างจังหวัดนนทบุรี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) โดยนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธาน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับคณะผู้บริหารของ รฟม.นำโดยนายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการ  และคณะของนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกรรมการ นายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการ นายมารุต สิริโก กรรมการ  RTC นอกจาก นั้นยังมีประธานหอการค้า และประธานสภาอุตสาหกรรมฯ หน่วยงานด้านทาง หลวง ทางหลวงชนบทและสำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรีเข้าร่วมด้วย เริ่มเห็นภาพการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารสายสีม่วงชัดเจนมากขึ้น

[caption id="attachment_309474" align="aligncenter" width="503"] ภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี[/caption]

ทั้งนี้นายภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการประชุมเรื่องการจัดเส้นทางรถโดยสารสมาร์ทบัสของจังหวัดนนทบุรีและระบบตั๋วร่วม ได้ข้อสรุปร่วมกันกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรียบร้อยแล้วเพื่อใช้ในการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนรอง (feeder) ป้อนผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางเตาปูน-บางใหญ่ คาดว่าเส้นทางสายแรก R2 ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตก ที่จะเปิดให้บริการได้ก่อนสิ้นปีนี้

โดยในครั้งนี้ถือว่าได้บรรลุข้อตกลงในการประสานความร่วมมือกันทั้งองค์กรระดับประเทศและระดับจังหวัด กับองค์กรเอกชนด้านความร่วมมือของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศ  โดยได้เลือกเส้นทางรองรับไว้แล้วหลายเส้นทางแต่ได้นำเส้นทาง R2 ไปทดลองวิ่งให้บริการในช่วงเริ่มต้นนี้ก่อน พร้อมกับปรับระบบรถสองแถวและจักรยานยนต์รับจ้างให้เป็นฟีดเดอร์ป้อนให้กับรถสมาร์ทบัสต่อไป เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการด้วยการสร้างแรงจูงใจด้วยระบบโครงข่ายให้บริการที่ทั่วถึง สะดวกสบาย ปลอดภัย โดยนำมาตรฐานให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่นนทบุรี

[caption id="attachment_309475" align="aligncenter" width="503"] วิทยา พันธุ์มงคล วิทยา พันธุ์มงคล[/caption]

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการรักษาการรองผู้ว่าการ รฟม. (ปฏิบัติการ) กล่าวว่า ได้อนุญาตให้ RTC สามารถนำรถเข้าไปจอดได้ตามจุดจอดรถและอาคารจอดรถที่มีพื้นที่ลานด้านหน้าแต่ละจุดเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวก ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงวันละราว 6 หมื่นคน หากสามารถป้อน ระบบฟีดเดอร์ได้มากขึ้นคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารได้มากกว่า 1-2 แสนคนต่อวัน ซึ่งด้วยศักยภาพของระบบรถไฟฟ้าสามารถรองรับได้มากกว่า 3 แสนคนต่อวัน

“ในครั้งนี้จะพยายามให้มีการนำบัตรแมงมุมไปให้บริการกับผู้โดยสารหลังจากที่ช่วงก่อนนี้จ่ายบัตรไปแล้วล็อตแรกจำนวน 2 แสนใบ ส่วนล็อตใหม่ที่จะใช้งานได้กับรถเมล์ขสมก.และแอร์พอร์ตลิงค์กำหนดเดือนตุลาคมนี้ เบื้องต้นนั้นจะจัดโปรโมชันดึงดูดให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการก่อนที่จะเป็นทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบรถ ไฟฟ้าพร้อมกับการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนเข้ามาใช้บริการอาคารจอดรถ แต่ละแห่งให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น”

[caption id="attachment_309476" align="aligncenter" width="503"] พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์[/caption]

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกรรมการ RTC กล่าวว่า ในการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาระบบฟีดเดอร์มาตรฐานอีกแห่งหนึ่งของไทย โดยได้นำระบบการออกแบบด้วยการเลือก 4 ปัจจัยหลักไปพัฒนา นั่นคือ 1.ออกแบบโดยอาศัยองค์ประกอบด้วยหลักการเชื่อมต่อมหภาค 2.ออกแบบด้วยการอ้างอิงหลักการพัฒนาเชิงพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (TOD) 3.การเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอก TOD ใช้ระบบแอกเซสซิบิลิตี้ในการเชื่อมต่อ และ 4.ใช้ระบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงระหว่างคอนเนกติวิตีกับแอกเซสซิบิลิตีกับพื้นที่ TOD นั่นคือจะต้องเชื่อมโยงระบบทั้งหมดให้เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

“เป็นรูปแบบที่สหรัฐอเมริกาใช้งานในปัจจุบัน นำร่องด้วยระบบขนส่งมวลชนรองแล้วค่อยพัฒนาระบบอื่นๆให้เชื่อมโยงถึงกันอย่างครอบคลุม ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นอีกมิติใหม่ของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทยที่รฟม.เลือกนำไปใช้งาน เมื่อมีระบบโครงข่ายเชื่อมโยงเกิดขึ้นจะสามารถป้อนผู้โดยสารให้เข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก รวดเร็วและเพิ่มปริมาณมากขึ้น ดังนั้นจึงจะต้องเร่งพัฒนาทั้งรถสองแถว รถจักรยานยนต์รับจ้าง เส้นทางจักรยานและทางเดินยกระดับลอยฟ้าให้เกิดขึ้นในจุดต่างๆต่อไป”

|เซกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3394 ระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว