ห้ามนำเข้า "มะพร้าว" ไม่ได้ผล! วงในระบุ ห้ามแค่เฉพาะจากอินโดฯ แต่ยังเปิดให้นำเข้าจากเวียดนามและมาเลย์ได้ ต้นเหตุราคายังร่วงเหลือแค่ลูกละ 4-5 บาท ชาวสวนเตรียมรวมพลบุกพาณิชย์-เกษตร 31 ต.ค. "สนธิรัตน์" ขอประเมินผล 3 เดือนห้ามนำเข้า ก่อนออกมาตรการใหม่
จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบให้ออกมาตรการรักษาสมดุลผลผลิตภายในประเทศระยะสั้น โดยจะห้ามการนำเข้ามะพร้าวชั่วคราวจากทุกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกตํ่านั้น
แหล่งข่าวคณะกรรมการพืชนํ้ามันและนํ้ามันพืช เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มาตรการห้าม/จำกัดการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศนั้น ในข้อเท็จจริงเป็นการห้ามนำเข้าสินค้ามะพร้าวจากอินโดนีเซีย พิกัดศุลกากร 0801.1200 (มะพร้าวทั้งกะลา) 0801.1910 (มะพร้าวอ่อน) และ 0801.1990 (มะพร้าวอื่น ๆ) โดยกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน แต่ยังเปิดช่องให้สามารถนำเข้ามะพร้าวจากแหล่งอื่น ๆ เช่น เวียดนามและมาเลเซีย จึงเป็นต้นเหตุทำให้มะพร้าวในประเทศล้นตลาด
ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคามะพร้าว ณ ปัจจุบัน ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ลูกละ 4-5 บาท ยังขายไม่ออก จากมะพร้าวทั่วประเทศที่ออกมาประมาณเดือนละ 200 ล้านลูก ไม่มีที่ไป กลายเป็นมะพร้าวต้นงอก ดังนั้น จะนำเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 500 คน ไปพบ 2 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพื่อให้เร่งช่วยแก้ไขปัญหาและทวงถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ เมื่อเช็กปริมาณมะพร้าวนำเข้าแล้ว เรียกว่า ตลอดปีนี้ผู้ประกอบการไม่ต้องซื้อมะพร้าวในประเทศเลย
ขณะเดียวกัน ผลจากการประชุมหารือการบริหารจัดการ/กำกับดูแลสินค้ามะพร้าวนำเข้า จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (31 ส.ค. 2561) ได้ข้อสรุปผลผลิตมะพร้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย มีการจัดการดูแลสวนมะพร้าวที่ดี และสามารถแก้ไขปราบศัตรูมะพร้าวได้แล้ว ระหว่างนี้ สำนักงานเกษตร
จังหวัดจะได้ทำการประเมินผลผลิตมะพร้าวใหม่อีกครั้ง เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากที่สุด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
"ต่อไปหากมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าว อาจต้องกำหนดเงื่อนไขการนำเข้า เช่น ต้องซื้อมะพร้าวภายในประเทศตามสัดส่วนที่กำหนด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคามะพร้าวผลภายในประเทศ ในลักษณะเดียวกับโมเดลการรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน เป็นต้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวยืนยันว่า การห้ามนำเข้ามะพร้าวชั่วคราวเป็นการห้ามนำเข้าจากทุกประเทศ ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดมาตรการในเดือนตุลาคมนี้ จะประเมินผลอีกครั้งว่า มาตรการได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง สถานการณ์ผลผลิตในประเทศเป็นอย่างไร ควรออกมาตรการใดเพิ่มเติม หรือ ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การระงับการนำเข้าผลมะพร้าวจากต่างประเทศ หากจะให้ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ควรดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลผลิตในประเทศออกมามากสุด
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23-26 กันยายน 2561