สนข.จับมือแบงก์กรุงไทยโชว์ศักยภาพบัตรแมงมุมระบบ EMV

27 ก.ย. 2561 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2561 | 18:57 น.
สนข. ผนึกแบงก์กรุงไทยโชว์บัตรแมงมุมระบบ EMV (Europay Mastercard and Visa) เทคโนโลยีใหม่เชื่อมโยงทุกระบบการเดินทางและการชำระเงินด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว จะเริ่มทยอยใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับรถโดยสารธรรมดาได้ภายในเดือนตุลาคม2561 เป็นต้นไป และใช้งานได้ครบทุกประเภทรถภายในเดือนมกราคม 2562 และระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ภายในเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป

chai

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) มาใช้กับระบบตั๋วร่วมบัตรแมงมุมของไทย ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางและชำระเงิน รวมทั้งสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลา และเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางของประชาชน

โดยบัตรแมงมุมหรือบัตรตั๋วร่วมของไทย ได้มีการพัฒนา ดังนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 กระทรวงคมนาคม ได้เปิดตัวบัตรแมงมุม (ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐานระบบของ รฟม.) โดยมีการแจกจ่ายบัตร จำนวน 200,000 ใบ ให้กับประชาชน และสามารถเริ่มใช้ได้กับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา และอยู่ระหว่างดำเนินการขยายการใช้บัตรแมงมุมกับระบบรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link ได้ภายในเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบของบัตรแมงมุม แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ กระทรวงการคลังได้ออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) โดยเป็นบัตรไฮบริด (Hybrid) ที่มี 2 ชิปการ์ด (Contact และ Contactless) รวมอยู่ในบัตรเดียว และมีแถบแม่เหล็ก เป็นบัตรที่มาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) โดยชิปการ์ดตัวหนึ่งเพื่อการใช้บริการรถโดยสารประจำทางตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ส่วนชิปการ์ดอีกตัวหนึ่ง จะใช้ร่วมกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) เพื่อใช้ชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโดยสารรถไฟ ค่าโดยสารรถ บขส. และซื้อสินค้าร้านธงฟ้าบนตัวบัตรจะมีรูปแสดงตัวตนของเจ้าของสิทธิ และด้านหลังบัตรจะมีสัญลักษณ์แมงมุม

cktb1

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการแจกจ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ให้กับประชาชนผู้มีสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร จำนวนประมาณ 1.3 ล้านใบ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 เพื่อใช้ชำระค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ระบบ e–Ticket และสนับสนุนมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง “รถเมล์ฟรี” ของรัฐบาล โดยผู้มีสิทธิได้เริ่มใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา

ต่อมา รฟม. ได้เปิดให้ผู้มีสิทธิที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว สามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาลงทะเบียนบัตรใหม่อีกครั้ง (Reinitialize) ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับบริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ได้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการขยายการให้บริการสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้สามารถใช้ได้กับระบบรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link ตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนี้

cktb2

1.ระบบรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. คาดว่าจะเริ่มทยอยใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
กับรถโดยสารธรรมดาได้ภายในเดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป และใช้งานได้ครบทุกประเภทรถภายในเดือนมกราคม 2562 และ 2.ระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ภายในเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป

“ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ รฟม. ได้ออก “บัตรเดบิตเเมงมุม” หรือ “บัตรกรุงไทย เมโทร ลิงค์ (Krungthai Metro Link)” ซึ่งเป็นบัตรแบบไฮบริด (Hybrid) ที่มี 2 ชิปการ์ด ประกอบด้วย บัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ด และบัตรแมงมุม โดยบัตรเดบิตใช้สำหรับการเบิก ถอน หรือโอนเงินสด รวมทั้งซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) และบัตรแมงมุมใช้เป็นบัตรโดยสารระบบขนส่งมวลชนตามเครือข่ายการเดินทางของบัตรแมงมุม ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้ชำระค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จึงเป็นการรวมความสะดวกด้านการใช้จ่ายและการเดินทางด้วยบัตรเพียงใบเดียว”

090861-1927-9-335x503-8-335x503

โดยธนาคารกรุงไทยได้เริ่มเปิดตัวบัตรครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 และเริ่มเปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2561 เป็นต้นไป จำนวน 71 สาขา และจะทยอยเปิดจำหน่ายให้ครบ 343 สาขา พร้อมทั้งจัดรายการส่งเสริมการขาย โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท สำหรับผู้สมัครบัตรและรับเครดิตเงินคืน 30 บาทต่อเดือนต่อบัตร (สูงสุดไม่เกิน 90 บาท) เมื่อเติมเงิน 300 บาท และชำระด้วยบัตรเดบิตแมงมุมใบเดียวกัน จำกัดจำนวน 20,000 สิทธิ์ต่อเดือน ตลอดรายการส่งเสริมการขายจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561

ทั้งนี้ การใช้งานบัตรครั้งแรกกับบริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ผู้โดยสารต้องนำบัตรไปแตะเพื่อซิงค์เข้ากับระบบหัวอ่านแมงมุมก่อนที่บริเวณช่องห้องขายตั๋วบนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อเริ่มการใช้งานบัตรกับระบบรถไฟฟ้าสายดังกล่าว สำหรับการเติมเงิน สามารถเติมเงินผ่านบัตรได้ที่สถานีรถไฟฟ้า ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโมบายแอพพลิเคชั่นร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเติมเงินบัตรแมงมุมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2562

cktb3

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่าในส่วนการพัฒนาก้าวต่อไปสู่ “บัตรแมงมุมระบบ” EMV (Europay Mastercard and Visa) การชำระค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนนั้น ได้เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานระบบ EMV โดยในปี พ.ศ. 2557 เมืองลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เริ่มทดลองการนำ EMV มาใช้ในการชำระค่าโดยสารควบคู่กับบัตร Oyster Card เพื่อแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการออกบัตรและบำรุงรักษาระบบ รวมทั้งความล่าช้าของผู้โดยสารในกรณีที่เงินในบัตรหมด

ในช่วงเวลาเร่งด่วน การทดลองใช้ในช่วงแรกยังติดปัญหาเรื่องความเร็วในการอ่านบัตร และได้มีการพัฒนาต่อมาโดยในปัจจุบันสามารถปรับปรุงความเร็วในการอ่านบัตรได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของภาคขนส่งที่ 300-500 มิลลิวินาที/ธุรกรรมการขนส่ง (msec/transaction) รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานขายบัตร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบัตร และค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรม ทำให้หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจในการเปลี่ยนมาใช้ระบบ Open Loop มากยิ่งขึ้น เช่น เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศสิงคโปร์ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ EMV ในปี พ.ศ. 2560 และเมืองอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ กำลังอยู่ในช่วงปรับมาใช้ระบบนี้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

“คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการบัตรแมงมุมระบบ EMV (Europay Mastercard and Visa) กับรถไฟฟ้าทุกสายที่เปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ภายในเดือนธันวาคม 2562 และจะสามารถใช้บริการได้ครอบคลุมทุกระบบการเดินทาง ได้แก่ ระบบทางพิเศษ เรือโดยสาร และรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต”

cktb4

e-book-1-503x62-7