เริ่มแล้ว!!!ประกาศรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์ รถไฟไทย-จีนสัญญาที่ 2.1 งานโยธาช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 5,330 ล้านบาท เริ่มวันนี้(28 กย.) สิ้นสุด 4 ตค.61 ย้ำ!!!หากไม่มีแก้ไขพร้อมเสนอเปิดประมูลได้ภายในต.ค.-พ.ย.นี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่าได้เริ่มประกาศความประสงค์จะเปิดรับฟังความเห็นร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับ ช่วงสีคิ้ว - กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 5,330 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
โดยได้เปิดรับฟังความเห็นร่างเอกสารประกวดราคานับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2561 -4 ตุลาคม 2561 ทั้งนี้ภายหลังจากผ่านวันที่ 4 ตุลาคมนี้ไปแล้วหากไม่มีแก้ไขในสาระสำคัญก็พร้อมจะเปิดประกาศประกวดราคาได้ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561 นี้ได้ทันที
ทั้งนี้ร.ฟ.ท.ได้แต่งตั้งให้นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ซึ่งได้กำหนดราคากลางมาตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2561 เป็นราคากลาง 3,350 ล้านบาท ส่วนขอบเขตงานก่อสร้างที่สำคัญ ประกอบด้วยการก่อสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 11 กิโลเมตร แบ่งเป็น คันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 7 กิโลเมตร และโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หอพัก ที่ล้างรถ เป็นต้น อีกทั้งยังมีงานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆและงานอื่นๆที่จำเป็นสำหรับโครงการ
สำหรับโครงการดังกล่าวรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557
โดยมีข้อกำหนดให้รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาความเหมาะสม ก่อสร้าง และพัฒนาระบบรถไฟ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทางรวมประมาณ 867 กิโลเมตร เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆของไทย อีกทั้งเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของประชาชน รวมถึงใช้ตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของไทยในภูมิภาค ในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน
“ผู้สนใจสามารถแสดงความเห็นหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ตึกพัสดุ ชั้น 3 การรถไฟแห่งประเทศไทย หรืออีเมล์
[email protected] ได้ทันที”