แม้จะลงทุนกว่า 2.7 หมื่นล้านบาทแต่ดูเหมือนว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยังไม่ชัดเจนด้านการเริ่มดำเนินการ ล่าสุดนั้นบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้หยิบโครงการนี้มาปัดฝุ่นเพื่อหารือกทม.เร่งผลักดันต่อไปแล้ว
รถไฟฟ้ารางเบาเส้นทางนี้มีผลการศึกษาไว้รองรับแล้วโดยสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กทม.ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2556 แต่เมื่อลงในภาคปฏิบัติกลับพบว่าใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง(ทล.)บางส่วน จึงต้องมีการหารือให้ได้ความชัดเจนเพื่อจะนำเสนอโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป โดยได้รับอนุมัติใช้พื้นที่จากทล.เรียบร้อยแล้ว
ในเบื้องต้นนั้นกทม.ต้องการให้ใช้รูปแบบการร่วมลงทุนซึ่งคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ได้เห็นชอบโครงการเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาเพื่อลดภาระงบประมาณซึ่งขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและวิธีดำเนินการร่วมลงทุนตามนโยบายการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พ.ศ.2556) คาดว่าจะมีระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี
ปัจจุบันเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางเส้นทางนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) มีระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตรเริ่มต้นจากแยกบางนาไปตามถนนบางนา-ตราดแล้วไปสิ้นสุดที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเชื่อมรถไฟฟ้า 2 จุดใหญ่ คือ รถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีบางนา และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรงที่สถานีวัดศรีเอี่ยม ถนนศรีนครินทร์
โครงการนี้มีจำนวน 14 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา สถานีประภามนตรี(ใกล้โรงเรียนนานาชาติเบิร์คลีย์) สถานีบางนา-ตราด 17 อยู่ปากซอยบางนา-ตราด 17 สถานีบางนา-ตราด 25 (ใกล้เซ็นทรัลบางนา)สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย(ตรงข้ามอาคารเนชั่น) สถานีบางนา กม.6 สถานีบางแก้ว สถานีกาญจนาภิเษก สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีธนาซิตี้ (จุดนี้จะมีเดโป หรือศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่) สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และสถานีสุวรรณภูมิ (โซนด้านใต้)
รูปแบบก่อสร้างทางยกระดับ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วงคือ เฟสแรกจากแยกบางนา-โครงการธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี และจากโครงการธนาซิตี้-สนามบินสุวรรณภูมิ อีก 2 สถานี โดยตามผลการศึกษาเบื้องต้นนั้นพบว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 4.2 หมื่นคนต่อวันในปีที่เปิดให้บริการ หากได้รับอนุมัติดำเนินการในปี 2562 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเปิดให้บริการในปี 2566
คงต้องมีลุ้นกันต่อไปว่ากทม.จะเร่งพัฒนารถไฟฟ้าเส้นทางนี้ควบคู่ไปกับเส้นทางอื่นๆหรือไม่เนื่องจากถนนบางนา-ตราดปัจจุบันสภาพการจราจรคับคั่ง เนื่องจากมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้บริการจำนวนมากหากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเชื่อว่าประชาชนจะหันมาเลือกใช้บริการรถไฟฟ้าเส้นทางนี้มากขึ้น จะเกิดชุมชนรูปแบบที่อยู่อาศัยรอบสถานีตลอดจนศูนย์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ตามมาอีกเนื่องจากยังมีพื้นที่ว่างขนาดใหญ่รองรับการพัฒนาอีกหลายพื้นที่นั่นเอง
|คอลัมน์ : เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์
| เซกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3408 ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.2561